12 แนวโน้มสงครามรัสเซีย-ยูเครน…ดำรงวิกฤติ-ท้าทายระเบียบโลก
24 ก.พ.66 อาจไม่ใช่วันสำคัญของใครหลายๆ คน นอกจากเป็น “วันศุกร์ก่อนสุดสัปดาห์” และ “ศุกร์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือนกุมภาฯ”
แต่ในเวทีการเมืองโลกแล้ว วันนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวันครบรอบ 1 ขวบปีของ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” สงครามขนาดใหญ่ระหว่าง 2 ชาติที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะปะทุขึ้น และยืดเยื้อยาวนานเกิน 1 ปี
สงครามนี้อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อสถานการณ์โลก เพราะรัสเซียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลก เป็น 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นผู้นำโลกในฝ่ายตรงข้ามอเมริกา โดยมี “มหาอำนาจใหม่” อย่างจีน ยืนเคียงข้าง
ส่วนสหรัฐก็มีพันธมิตรหลักอย่างอังกฤษ และ อียู หรือ สหภาพยุโรป
ผู้ที่เกี่ยวพันในสงครามนี้จึงกระจายอยู่หลายทวีป และอาจเรียกได้ว่าสะเทือนทั้งโลกก็คงไม่ผิด เพราะมีปัญหาการคว่ำบาตร และราคาพลังงาน ตลอดจนสงครามเศรษฐกิจปะทุขึ้นตามมา
คำถามที่น่าสนใจก็คือแนวโน้มของสงครามในปีที่ 2 จะเป็นอย่างไร มีความสุ่มเสี่ยงที่จะขยายวงเป็น “สงครามนิวเคลียร์” หรือ “สงครามโลกครั้งที่ 3” หรือไม่
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินแนวโน้มสงครามในปี 2023 เอาไว้อย่างน่าติดตามยิ่ง
———————————
แนวโน้มสงครามในปี 2023
สงครามยูเครนเดินทางมาถึง 1 ปีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะหากดูอำนาจกำลังรบแล้ว กองทัพยูเครนไม่อยู่ในสถานะที่จะรับมือกับการโจมตีขนาดใหญ่ของกองทัพรัสเซียได้เลย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขก่อนสงครามว่า กองทัพบกยูเครนมีกำลังเพียง 145,000 นาย ในขณะที่กองทัพบกรัสเซียมีกำลังมากถึง 280,000 นาย หรือยูเครนมีรถถังหลักเพียง 854 คัน ส่วนรัสเซียมีมากถึง 2,750 คัน … กองทัพบกรัสเซียใหญ่เป็น 2 เท่า และมีรถถังมากกว่าประมาณ 3 เท่าของกองทัพบกยูเครน
@@ ปีแรกของสงคราม
หากคิดในมุมของการเปรียบกำลังรบแล้ว จึงแทบมองไม่เห็นหนทางที่ยูเครนจะอยู่รอดได้ถึง 1 ปีเลย เว้นแต่กองทัพรัสเซียมีปัญหาในตัวเอง และไม่มีความพร้อมรบในการทำสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งภาวะเช่นนี้ส่งผลให้กองทัพรัสเซียต้องใช้อำนาจทางทหารกระทำต่อเป้าหมายพลเรือนมากขึ้น เพื่อให้สังคมยูเครนอ่อนล้าจนรบต่อไปไม่ได้
แต่สภาพดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลและกองทัพยูเครนยังคงดำรงความสามารถทางทหารที่ยังทำการรบต่อไปได้ แม้สังคมยูเครนในปีแรกจะบอบช้ำอย่างหนักจากสงครามของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ถ้าแผนการสงครามเดินไปตามความคาดหวังของประธานาธิบดีปูตินแล้ว การบุกคีฟเพื่อยึดเมืองหลวงของยูเครนน่าจะสำเร็จได้ในระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากการเปิดสงคราม แต่เมื่อ “ปฎิบัติการพิเศษทางทหาร” (special military operations) ไม่ประสบความสำเร็จได้จริงแล้ว สงครามจึงพลิกไปในอีกแบบหนึ่ง
หากย้อนกลับไปเมื่อสงครามเริ่มต้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าความอยู่รอดของยูเครนนั้น ไม่น่าจะมีเวลาเหลือมากนัก แต่เมื่อยูเครนสามารถเหนี่ยวรั้งการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างคาดไม่ถึง การรบในยูเครนจึงเป็นดัง “การยัน” ในทางทหาร (military stalemate) กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถที่เอาชนะซึ่งกันและกันได้ในสนามรบ และส่งผลให้การรบดำเนินเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น สงครามในปีที่ 2 จึงมีแนวโน้มน่าจะรุนแรงมากขึ้น จากความพยายามของแต่ละฝ่ายที่ต้องชิงความได้เปรียบทางทหาร และท้าทายต่อความเป็นไปของการเมืองโลกมากขึ้นด้วย
@@ ปีที่ 2 ของสงคราม
หากต้องมองสู่ปีที่ 2 ของสงคราม เราอาจเห็นแนวโน้มและปัญหาสังเขปในอนาคต 12 ประการ ดังนี้
1.การรบยังไม่มีจุดสิ้นสุด คู่สงครามยังมีกำลังที่จะทำการต่อได้อีกนาน และมีอาวุธให้สามารถทำการรบต่อได้ แม้กองทัพของทั้งสองฝ่ายจะประสบความสูญเสียทั้งกำลังพลและอาวุธเป็นจำนวนมาก
2.สภาวะเช่นนี้ยังไม่เป็นโอกาสให้เกิดการเจรจาสันติภาพ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการรบต่อ และยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องการการเจรจา
3.ยูเครนมีความหวังที่จะเอาดินแดนที่รัสเซียยึดกลับคืนมา หลังจากประสบความสำเร็จในการเอาดินแดนที่รัสเซียยึดครองกลับคืนมาได้บางส่วน และอาจเปิดการรุกทางทหารมากขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
4.รัสเซียเตรียมที่จะเปิดสงครามใหญ่หลังฤดูหนาว และต้องการที่จะยึดดินแดนให้ได้มากขึ้น เพื่อตอบโต้กับชัยชนะของการรุกทางทหารของยูเครน และเพื่อสร้างภาพของชัยชนะในบ้านตัวเอง มิฉะนั้น ประธานาธิบดีปูตินและกองทัพรัสเซียจะเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง
5.สงครามน่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างเตรียมตัวทำสงครามใหญ่ และมีความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้กองทัพยูเครนมีความต้องการอาวุธหนักเพิ่มมากขึ้นด้วย
6.ความกังวลถึงการขยายสงครามออกนอกพื้นที่ของยูเครน ทำให้หลายประเทศในยุโรปและประเทศที่มีแนวชายแดนติดกับรัสเซียกลัวว่ารัสเซียจะขยายสงคราม จึงส่งผลให้เกิดเอกภาพทางความคิดทางด้านความมั่นคงในปัญหาภัยคุกคามจากรัสเซีย หรือมีทัศนะในแบบต่อต้านรัสเซียมากขึ้นนั่นเอง
7.ข้อกังวลในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ หลายฝ่ายกังวลในเรื่องนี้ แต่ก็หวังว่าประธานาธิบดีปูตินจะมีเหตุผลมากพอ ที่จะไม่ตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพราะการตัดสินใจดังกล่าวอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและเนโต้ได้
8.คำประกาศของประธานาธิบดีปูตินที่ถือว่า นับจากนี้ความตกลงที่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ที่มีกับสหรัฐ (ความตกลง START) ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้คำประกาศของประธานาธิบดีปูตินครั้งนี้เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของสงครามในปีที่ 2 และนำไปสู่ความกังวลในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย
9.การเดินทางเยือนยูเครนของประธานาธิบดีไบเดน และบรรดาผู้นำตะวันตกหลายประเทศ เป็นคำยืนยันอย่างดีว่าตะวันตกจะไม่ยอมทิ้งยูเครนในสงครามครั้งนี้ ซึ่งสัญญาณเช่นนี้มีความชัดเจนถึงการสนับสนุนทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารที่มีต่อยูเครน
10.ปัญหาผลกระทบจากสงครามกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งจะทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายในแต่ละภูมิภาคมากขึ้น
11.จีนจะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนรัสเซียในปีที่ 2 ของสงครามเพียงใด แต่ทุกฝ่ายรู้ดีว่า ในสถานการณ์การเมืองโลกปัจจุบัน จีนไม่สามารถทิ้งรัสเซียได้ แต่จีนจะแสดงบทบาทในเวทีโลกอย่างไรในเรื่องนี้
12ความสูญเสียทางทหาร และการถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อสงครามของรัสเซียในปีที่ 2 อย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า ผู้นำรัสเซียจะยังคงเดินหน้าทำสงครามในปี 2023 ต่อไป ดังที่ปรากฏจากคำประกาศในวาระครบรอบปีของสงครามยูเครน ที่มีทิศทางแบบแข็งกร้าว และไม่เปิดช่องของการประนีประนอม
@@ แนวโน้มในอนาคต
สงครามยูเครนในปี 2023 จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการจัดระเบียบโลก…
ถ้าสงครามในปีแรกเริ่มต้นด้วยการบุกของกองทัพรัสเซียแล้ว สงครามในปีที่ 2 เริ่มต้นด้วยการเดินทางเยือนยูเครนของผู้นำทำเนียบขาว อันเป็นสัญญาณโดยตรงถึงผู้นำมอสโคว์ว่า สหรัฐและโลกตะวันตกจะไม่ถอยในสงครามครั้งนี้อย่างแน่นอน และผู้นำรัสเซียก็ตอบด้วยการไม่รับผลความตกลงในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ที่มีกับสหรัฐ
สภาวะเช่นนี้เป็นคำตอบอย่างชัดเจนว่า สงครามจะดำเนินไปตลอดช่วงปี 2023 และน่าจะส่งผลให้เกิดวิกฤติที่เกิดขึ้นในปีแรก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติอาหาร วิกฤติพลังงาน และวิกฤติผู้อพยพ จะยังคงเป็นประเด็นในเวทีโลกต่อไป
ที่มา : ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา