นักศึกษาปาเลสไตน์ที่ถูกผลักให้เป็นนักต่อต้าน
Birzeit University เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยประจำชาติชื่อดังของปาเลสไตน์ สถาบันศึกษาแห่งนี้ตั้งอยู่บนทิวเขาสูงตระหว่างทางตอนเหนือของเมือง Ramallah
ตึกสีขาวโพนที่แซมด้วยต้นสนสูงใหญ่กลางแสงแดดแห่งฤดูใบไม้ผลิ ภาพนักศึกษาจับกลุ่มนั่งคุยกันตามม้านั่งและเดินขวักไขว่ไปมารอบรั้วมหาวิทยาลัยกว่า 14,000 ชีวิตเหล่านี้คงดูไม่ต่างอะไรจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปในตะวันออกกลาง แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความแตกต่างคือตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมาคือ หนึ่งในสถาบันการศึกษายอดนิยมของปาเลสไตน์แห่งนี้ได้เปลี่ยนสถานภาพจากแหล่งผลิตบัณฑิตการศึกษา ให้กลายมาเป็นแหล่งรวมพลนักต่อต้านหลายชีวิตในเขตเวสต์แบงค์ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นอันเนื่องจากแรงกดดันทางการเมือง ที่ทหารอิสราเอลพยายามยัดเยียดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่าชื่อเสียงด้านการต่อต้านอันเลื่องลือของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คงไม่พ้นหูทางการอิสราเอล ที่คอยจับจ้องเล่นงานด้วยกลยุทธ์ต่างๆ นานา หนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นคือในเดือนมีนาคมปี 2018 ที่ เมื่อกลุ่มเจ้าหน้าที่สืบสวนของทางการอิสราเอลจำนวน 5 นาย ปลอมตัวเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และนักศึกษาปาเลสไตน์ ลักลอบเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยพร้อมอาวุธที่แอบซ่อนไว้ในกระเป๋าสะพาย หมายเข้ามาจับกุม Omar Kiswani ซึ่งเป็นประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย
พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้ลอบโจมตีชาวอิสราเอลกลุ่มดังกล่าวพยายามกดร่าง Kiswani ราบลงไปกับพื้นแล้วชักปืนขึ้นจากกระเป๋าขู่ห้ามไม่ให้นักศึกษาคนใดเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมยิงปืนขึ้นฟ้าขู่ให้ทุกคนหลบหนีขวัญกระเจิง เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้นักศึกษาสองคนและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอีกหนึ่งรายได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยเล่าว่า หลังจากเจ้าหน้าที่สืบสวนของอิสราเอลจับ Kiswani ไปได้ ก็เรียกกองกำลังทหารอีกจำนวนหนึ่งบุกเข้ามาทางประตูด้านตะวันตกของมหาวิทยาลัยเพื่อสมทบ พวกเขาล็อคตัวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยไว้ในห้องเพื่อไม่ให้ออกมาช่วยนักศึกษาที่ต้องเผชิญชะตากรรมโหดร้ายในวันนั้น
ทางมหาวิทยาลัยเล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพอิสราเอลถือวิสาสะบุกเข้ามาก่อความเสียหายและใช้ความรุนแรงขู่เข็ญนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ในรั้วมหาวิทยาลัย แม้ว่าสถาบันการศึกษาจะได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระดับโลกเพียงใด ทหารอิสราเอลก็ยังคงใช้อำนาจบาตรใหญ่เข้ามาสร้างความเสียหาย ซึ่งไม่ใช่แค่ที่มหาวิทยาลัย Birzeit เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงสถาบันศึกษาอื่นๆ ในปาเลสไตน์อีกด้วย
คือสถาบันที่ให้วิชาชีวิต
จิตวิญญาณการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของ Kiswani ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับมหาวิทยาลัย Birzeit เพราะหากนับย้อนกลับไปยังมีรุ่นพี่ก่อนหน้าอีกหลายคน ที่เคยอุทิศตนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกล่วงละเมิดทางการศึกษาโดยกองทัพอิสราเอล ตัวอย่างเช่น
Sahar Khalifeh นักเขียนนวนิยายชาวปาเลสไตน์ชื่อดังคือหนึ่งในศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เธอได้เขียนนวนิยายเพื่อบอกเล่าถึงความขมขื่นของการมีชีวิตอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล โดยเฉพาะในเขต Nablus ภูมิลำเนาที่เธอเติบโตมา
Yahya Abd-al-Latif Ayyash นิสิตคณะวิศวกรรมไฟฟ้าที่จบการศึกษาตั้งแต่ปี 1991 ชายหนุ่มผู้ซึ่งผันตัวมาเป็นหัวหน้าผลิตระเบิดของกลุ่มฮามาส กระทั่งเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารในเมืองกาซ่าเมื่อ 5 ปีต่อมา
Marwan Al-Barghouti เป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์จากรั้ว Berzeit อีกท่านที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิวัติรุ่นที่สอง (Second Intifada) ที่โด่งดังในช่วงต้นปี 2000 Marwan ดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษาตั้งแต่ปี 1983 จนกระทั่งปี 1986 และเป็นตัวแทนของกลุ่ม Al-Shabiba ซึ่งเป็นปีกนักศึกษาของกลุ่ม Fatah
Majed Abdulfattah หนุ่มที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาพันธ์นักศึกษาของมหาวิทยาลัยในช่วงการปฏิวัติครั้งแรกเมื่อปี 1987 เขาเป็นศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งที่ได้เล่าว่า “ผมได้ยินชื่อเสียงของ Birzeit ในเรื่องความแกร่งด้านการศึกษา และเป็นที่รู้จักในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งชาติ มันเป็นที่ที่คุณสามารถเปลี่ยนความรักชาติในตัวคุณออกมาเป็นการกระทำได้ มันคือการศึกษาที่แท้จริงที่ไม่ได้เป็นแค่หลักสูตร แต่มันคือการศึกษาแห่งชีวิต ตอนผมเริ่มใช้ชีวิตใน Birzeit ผมรู้สึกอย่างนั้นทุกวัน”
มหาวิทยาลัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน
ดังเช่นมหาวิทยาลัยทั่วไปของปาเลสไตน์ตลอดช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา Birzeit คือสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกหล่อหลอมจิตวิญญาณด้วยสภาวะทางการเมือง ย้อนกลับไปถึงที่มาของชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มันถูกตั้งขึ้นจากชื่อของหมู่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่ตั้งและเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น “บ่อน้ำมันมะกอก” ในยุคสมัยโรมันเมื่อสองพันปีที่แล้ว “ต้นมะกอก” จึงเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยที่ยังคงพบเห็นได้รอบรั้วมหาวิทยาลัยตลอดจนรอบทิวเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของมัน
Birzeit เริ่มต้นด้วยการเป็นโรงเรียนเมื่อปี 1924 และได้ขยายเป็นวิทยาลัยในปี 1960 จนในที่สุดได้กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1975 หลังจากตระกูล Nassers ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชื่อดังของประเทศได้บริจาคที่ดินเพื่อการกุศลให้กับทางมหาวิทยาลัย
ในเดือนพฤศจิกายน 1974 ช่วงที่ Birzeit กำลังผันตัวจากวิทยาลัยกลายมาเป็นมหาวิทยาลัย ทางการอิสราเอลได้เนรเทศ Hanna Nasser ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในขณะนั้นออกนอกประเทศไปยังเลบานอนพร้อมกับนักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์อีก 4 ท่านด้วยข้อหาด้านความมั่นคง
ต่อมา Nasser สามารถยึดตำแหน่งกลับมาและได้ย้ายไปประจำอยู่ที่เมืองอัมมานประเทศจอร์แดน ที่นั่นท่านได้พยายามทำงานหาเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัย Birzeit เรื่อยมา ในขณะเดียวกันคณะกรรมการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ยังคงต้องทำงานหนักเพื่อรับมือและเผชิญกับทหารอิสราเอลที่เข้ามาระรานแทบทุกวี่วัน
ตั้งแต่ช่วงปี 1973 จนถึงปี 1992 เรื่อยมา ทางมหาวิทยาลัยถูกกองทัพอิสราเอลสั่งปิดมาแล้วถึง15 ครั้ง ช่วงที่เกิดการปฏิวัติครั้งแรกนั้นถือเป็นการสั่งปิดที่ยาวนานที่สุดที่เริ่มขึ้นเมื่อนักศึกษาปาเลสไตน์พร้อมใจกันลุกขึ้นมาประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศ
วันที่ 10 มกราคม 1988 ทหารอิสราเอลได้ฉวยโอกาสใช้กฎเคอร์ฟิวสั่งประกาศปิดและห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าในบริเวณมหาวิทยาลัยโดยเด็ดขาด การประกาศปิดในครั้งนั้นยืดเยื้อนานถึง 51 เดือน และถือเป็นการสั่งปิดที่ยาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยในปาเลสไตน์
ด้วยสภาวะที่เลือกไม่ได้บรรดานักศึกษา อาจารย์ และฝ่ายบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยจึงคิดจัดตั้งระบบที่พวกเขาเรียกมันว่า “cell of illegal education” หรือห้องเรียนนอกกฎหมายขึ้นมา ด้วยการลักลอบเปิดห้องเรียนกันเองตามสถานที่พักอาศัย เช่นบ้านและหอพัก หรือแม้แต่ใกล้บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยที่ถูกสั่งปิดก็ยังมีการใช้พื้นที่บริเวณนั้นเปิดห้องเรียนกัน บางครั้งนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ก็ประยุกต์ใช้ห้องครัวเปลี่ยนมาเป็นห้องทดลองขนาดย่อมก็เคยมาแล้ว
Abdulfattah เล่าย้อนกลับไปให้ฟังว่า “บางวันเราใช้ที่ทำงานของบอร์ดบริหารเป็นห้องเรียน บางวันเราก็ใช้บ้านของอาจารย์เป็นห้องเรียน และบางวิชาเราจำเป็นต้องออกไปเรียนถึงต่างเมืองเช่น Nablus หรือ Gaza ก็มี”
“ในช่วงที่มหาวิทยาลัยถูกสั่งปิด เรามีจำนวนนักศึกษาประมาณ 2,500 คน แรกเริ่มเดิมทีเราแค่เปิดห้องเรียนให้กับนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาเท่านั้น แต่ต่อมาภายหลังช่วงปี 1990 กลายเป็นว่านักศึกษาทั้งหมดที่เคยเข้าเรียนก่อนช่วงการปฏิวัติก็ขอเข้าร่วมเรียนในห้องเรียนนอกกฎหมายด้วยเช่นกัน”
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1992 มหาวิทยาลัยสามารถเริ่มเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง โดยในครั้งนั้นได้จัดพิธีมอบปริญญาบัตรสำเร็จการศึกษาให้กับบัณฑิตรวมทั้งสิ้น 700 คน
“ช่วงเวลานั้นเป็นความรู้สึกที่สวยงามที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา มันคือช่วงที่เราอายุประมาณ 22 ปี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นช่วงอายุแห่งการปฏิวัติ เราอยู่ในช่วงวัยที่คิดอยากจะเริ่มสร้างอนาคต และเราก็คิดว่าเราจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับประเทศชาติได้”
ที่มา : middleeasteyenet / Birzeit : How Palestinian students became the next generation of resistance