ข่าวต่างประเทศ

จุดเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อสิทธิระหว่างผู้หญิงอิหร่านกับอยาตอลเลาะห์

หลังจากหญิงเชื้อสายเคิร์ดวัย 22 ปีที่ชื่อมาห์ซา อามินี เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรู้จักกันในนาม “ตำรวจศีลธรรม” เพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎการสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่าฮิญาบ เมื่อเดือน ก.ย.ปีก่อน ผู้หญิงและเด็กหญิงอิหร่านทั่วประเทศได้ออกไปประท้วงตามท้องถนน แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้หญิงลุกฮือครั้งใหญ่ท้าทายอำนาจรัฐที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเธอ

การประท้วงในวันที่ 8 มี.ค.1979 ควรจะเป็นการชุมนุมเล็ก ๆ เพื่อฉลองวันสตรีสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำสูงสุดที่เพิ่งขึ้นสู่อำนาจมองว่าเป็นกิจกรรมแบบชาติตะวันตก

ทว่าเหตุการณ์ได้บานปลายกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก

24 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น อยาตอลเลาะห์โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่านได้ออกข้อบังคับใหม่ให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมผ้าคลุมศีรษะในที่ทำงาน และเขามองว่าผู้หญิงที่ไม่คลุมศีรษะเปรียบเสมือนคนร่างกาย “เปลือยเปล่า” ตามหลักศาสนาอิสลาม

เพื่อประท้วงข้อบังคับดังกล่าว หญิงชายกว่า 10,000 คนได้ใช้การชุมนุมฉลองวันสตรีสากล 8 มี.ค. 1979 เดินขบวนแสดงพลังต่อต้านไปตามท้องถนนในกรุงเตหะราน

เมห์รานกีซ คาร์ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดังวัย 78 ปี บอกว่า “ในวันนั้นการต่อสู้ระหว่างอยาตอลเลาะห์กับผู้หญิงได้เริ่มต้นขึ้น”

เช้าวันนั้นผู้หญิงหลายพันคนไปชุมนุมกันที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเตหะราน โดยการเดินขบวนจัดขึ้นโดยสมาคมเนติบัณฑิตยสภากลางอิหร่าน ซึ่งเมห์รานกีซฝึกงานอยู่

“ตอนนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการปฏิวัติ” เมห์รานกีซเล่า

“อาคารต่าง ๆ เต็มไปด้วยผู้คน แม้แต่ด้านนอกก็เนืองแน่น ไม่มีใครมาขัดขวางพวกเรา ฉันจำได้ว่าผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นไปด้านบน แล้วขว้างฮิญาบออกมาทางหน้าต่าง มันเป็นทั้งสัญลักษณ์และความงดงาม มันคือการต่อต้านอุดมการณ์ของอยาตอลเลาะห์ครั้งแรก”

ช่วงที่เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ในกรุงเตหะรานในปี 1979 เมห์รานกีซคุ้นเคยกับชีวิตคนเมืองแบบสากลนิยม ชายและหญิงสามารถรวมตัวกันได้อย่างเสรี ผู้หญิงสามารถแต่งหน้าแต่งตัวแบบตะวันตกออกไปนอกบ้านได้อย่างเปิดเผย

ดังนั้นเมื่อเสรีภาพเหล่านี้ถูกพรากไปในเวลาชั่วข้ามคืน จึงเป็นเรื่อง “ช็อก” สำหรับผู้หญิง

เมห์รานกีซ บอกว่า “พวกเรารู้สึกว่าเสรีภาพของเรากำลังถูกลิดรอน คุณต้องเข้าใจว่าเพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างไปร้านกาแฟและโรงหนังด้วยกัน พวกเราสามารถเล่นกีฬาและปีนเขาด้วยกัน”

ปัจจุบัน หากชายหญิงที่ไม่ใช่คู่สมรสเดินไปตามถนนด้วยกัน พวกเขาก็เสี่ยงถูกเล่นงานจาก “ตำรวจศีลธรรม”

เมื่อมองย้อนกลับไป เมห์รานกีซ ชี้ว่าในตอนนั้นไม่มีใครล่วงรู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมในอิหร่าน

นับตั้งแต่บัดนั้น คนอิหร่านต้องเผชิญการแบ่งแยกทางเพศในด้านการศึกษาและการทำงาน อีกทั้งข้อบังคับเรื่องความประพฤติและการแต่งกายของผู้หญิงก็เข้มงวดขึ้นทุกขณะ

“ตอนนั้นพวกเรามีความหวังกันมาก พวกเราช่างไม่รู้เลยว่ามันจะรุนแรงเพียงใดในเวลาต่อมา เราคิดว่าหลังจากการประท้วงครั้งนั้นพวกเขาจะเลิกควบคุมเรา”

วันสตรีสากล ปี 2023

จนถึงบัดนี้นับเป็นเวลา 50 ปีมาแล้วที่สตรีอิหร่านได้ต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมกับผู้ชาย และคนรุ่นใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่ควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวดได้เข้ารับช่วงต่อในการต่อสู้อันยาวนานนี้

ซารา นักจิตวิทยาวัย 30 ปีเศษ บันทึกคำบอกเล่าของเธอให้บีบีซี โดยไม่เปิดเผยใบหน้า และที่อยู่ของเธอ

นับแต่การเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี เมื่อปีก่อน ซาราก็ได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงหลายครั้ง และกลัวว่าจะถูกจับกุมฐานพูดเรื่องการประท้วง

นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ศาลอิหร่านได้ใช้บทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี แก่ผู้ร่วมการประท้วง 400 คน และมีชายถูกประหารชีวิตในความผิดลักษณะนี้ไปแล้ว 4 คน

แม้จะมีความเสี่ยง แต่ซาราบอกว่าเธอจะไม่ยอมแพ้

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฉันจะประท้วงต่อไป ฉันหวาดกลัวว่าจะถูกจับกุมมานานหลายเดือน ฉันรู้สึกไม่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในบ้านตัวเอง แต่ฉันจะไม่หยุดต่อสู้จนถึงวันที่ฉันตาย”

สำหรับซาราแล้ว หญิงผู้กล้า เช่น เมห์รานกีซ คือผู้สร้างแรงบันดาลใจและความกล้าหาญให้เธอ

“ถ้าพวกเราคนรุ่นใหม่รู้เกี่ยวกับสิทธิของเรา และจะต้องต่อสู้เพื่อมันอย่างไร มันก็เป็นเพราะบรรดาผู้หญิงที่เคยต่อสู้มาก่อนเรา” ซาราบอก

สำหรับเมห์รานกีซ หลังจากมีชีวิตผ่านการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน คนรุ่นเธอยังต้องเอาชีวิตรอดจากสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน

เธอบอกว่า ในตอนนั้นสิทธิสตรีกลายเป็นประเด็นรอง เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ในยามสงครามคุณต้องเอาผ้าคลุมศีรษะมาปิดจมูกเพื่อไม่ให้ได้กลิ่นซากศพตามท้องถนน ตอนนั้นมันไม่มีพื้นที่สำหรับการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง” เมห์รานกีซบอก

ทั้งเมห์รานกีซและซาราต่างมองเห็นประกายความหวังในการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้น เพราะมีการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนผู้หญิงอิหร่านและความเสมอภาคทางเพศจากทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งยังไม่ถูกบดบังจากสถานการณ์ใหญ่กว่าเหมือนในอดีต

ซาราบอกว่า การแสดงความขัดขืนยังมีให้เห็นอยู่ทุกวัน

“ภาพของผู้หญิงไม่สวมฮิญาบบนท้องถนนยังมีให้เห็นไม่เคยขาด ฉันคิดว่ามันคือหนึ่งในการแข็งขืนอันกล้าหาญที่สุดที่ผู้หญิงเคยทำ ทุกวันนี้โลกได้รู้ว่าผู้หญิงอิหร่านตกเป็นเป้าการเลือกปฏิบัติ และพวกเธอจะต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเธอไปจนตาย”

“ประเทศนี้จะเป็นอิสระไม่ได้ จนกว่าผู้หญิงจะได้รับอิสรภาพ”



ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-64873093