ข่าวต่างประเทศ

รัฐสภามาเลเซียขับเคลื่อนเพื่อยุติการลงโทษประหารชีวิต

  เมื่อวันจันทร์ (วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซียหรือสภาเดวัน รัคยาท (Dewan Rakyat) ได้เห็นชอบการปฏิรูปกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตต่อความผิดในบางคดี
                   ในขณะที่ วุฒิสภาหรือสภาเดวัน เนการา (Dewan Negara) จะรับพิจารณาร่างกฎหมาย และหากร่างกฎหมายผ่านสภาดังกล่าว จะได้นำกราบบังคมทูลสมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตราเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าร่างกฎหมายจะผ่านวุฒิสภา การลงโทษประหารชีวิตจะไม่นำไปบังคับใช้ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดการลงโทษด้วยวิธีอื่นสำหรับคดีอาชญากรรมร้ายแรงบางประเภทซึ่งต้องไม่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต ได้แก่ การลักพาตัว การใช้อาวุธและการลักลอบค้าอาวุธปืน เป็นต้น
                   ประเทศมาเลเซียได้มีการระงับโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงตัดสินโทษประหาร ทั้งนี้ ภายใต้การแก้ไขกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ ได้มีการเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากโทษประหารชีวิต รวมถึงการลงโทษ ด้วยวิธีการโบยและจำคุกเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 30 ปี ถึง 40 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน นายรามการ์ปาล ซิงห์ (Ramkarpal Singh) รัฐมนตรีช่วยประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ด้านการปฏิรูปกฎหมายและองค์กร) กล่าวว่า โทษประหารชีวิตถือเป็นการลงโทษที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และ ไม่สามารถยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   คำกล่าวของเขาในช่วงสรุปการอภิปรายต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวในรัฐสภา ระบุว่า “ไม่สามารถละเลยต่อสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน อีกทั้ง โทษประหารชีวิตไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้แต่อย่างใด” การผ่านกฎหมายในรัฐสภามาเลเซียนั้น เป็นผลมาจากการที่ยังมีบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงโทษประหารชีวิต เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้ลงโทษประหารชีวิตจำนวน ๑๑ ราย จากคดีค้ายาเสพติด โดยรายงานจากข้อมูลของรัฐบาล ในขณะที่ เมียนมาร์ตัดสินประหารชีวิตครั้งแรกในรอบหลายสิบปีต่อนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยจำนวน 4 ราย