“ทวี” ย้อน “บิ๊กตู่” ผู้เห็นต่างฯเรียกร้องเอกราชไม่เห็นเคยดิ้นไปจัดการ
“ทวี” ย้อน “บิ๊กตู่” ปมเรียกร้องเอกราชปาตานีเคยเกิดจากกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ไม่เห็นเคยดิ้นแบบนี้ เชื่อหวังด้อยค่ารัฐบาลใหม่ ขณะที่หัวหน้าพรรคเป็นธรรม โชว์แมนส่งทนายช่วยอดีตรองเลขาธิการพรรค ยืนยันไม่ทอดทิ้ง แม้ไม่ได้เป็นกรรมการแต่ก็เป็นสมาชิก ด้านนักกฎหมาย ชี้ ก่อกบฏทางความคิด – คำพูด ยังไม่น่าเข้าข่ายความผิด เคยมีคดีตัวอย่างเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ศาลยกฟ้อง
หลัง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความดำเนินคดีใน 4 ข้อหาหนักต่อผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรม “ประชามติเอกราชปาตานี” เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีสัมมนา จะโดนดำเนินคดีด้วยหรือไม่นั้น
ล่าสุดมีปฏิกิริยาจากตัวแทนพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า เป็นความพยายามของฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะด้อยค่าฝ่ายที่จะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ โดยหยิบเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้มากล่าวหา
อยากบอกว่า ตอนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็เห็นว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐก็โพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า “ขอเอกราชๆ” ทำไมนายกฯประยุทธ์ ไม่ดิ้นทุรนทุรายไปจัดการในขณะนั้น แต่พอเด็กไปแสดงความเห็น กลับดำเนินคดี
ยืนยันว่า เรื่องนี้พรรคประชาชาติไม่ได้เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ผู้มีอำนาจกลับหยิบมาเป็นเรื่องใหญ่มาก บีอาร์เอ็นที่ไปคุยกับคณะพูดคุยฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตั้งขึ้น มีการโพสต์ข้อมูลตลอด ตอนท้ายจะบอกขอเอกราชๆ แบบนั้นไม่หนักยิ่งกว่าหรือ สมัยก่อนดุเดือดกว่านี้อีก ทำไมไม่ทำ
@@ หัวหน้าพรรคเป็นธรรมส่งทนายช่วย
ด้าน นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ตนรู้สึกเห็นใจกลุ่มที่โดนแจ้งความดำเนินคดี ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งและจะส่งทนายไปช่วยเรื่องคดี ไม่ให้ต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะคนของพรรคที่ถูกดำเนินคดี แม้จะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ พรรคจึงต้องร่วมรับผิดชอบ
สำหรับรายชื่อผู้ที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดี ที่มีชื่อปรากฏต่อสาธารณะแล้ว จำนวน 5 รายนั้น มี นายฮากิม พงตีกอ อดีตรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม รวมอยู่ด้วย โดยนายฮากิมไปร่วมกิจกรรมสัมมนา “ประชามติเอกราชปาตานี” เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 และได้ขึ้นพูดในฐานะวิทยากรหลัก ต่อมาเมื่อเรื่องนี้ถูกตรวจสอบจากฝ่ายความมั่นคง กรรมการบริหารพรรคเป็นธรรมได้ลงมติให้นายฮากิม พ้นจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค โดยให้เหตุผลว่า “ประพฤติตนไม่เหมาะสม”
ส่วนพรรคประชาชาติ มีตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมนาประชามติเอกราชปาตานี คือ ผศ.วรวิทย์ บารู ส.ส.ปัตตานี และรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ โดย ผศ.วรวิทย์ เคยเป็นผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้วย
@@ ผ่าองค์ประกอบความผิด 4 ข้อหาหลัก เอาผิดได้แน่หรือ?
มีประเด็นน่าสังเกตเกี่ยวกับการแจ้งข้อหาหนัก ทั้งตระเตรียมก่อกบฏ ยุยงปลุกปั่น รวมไปถึงอั้งยี่ ซ่องโจร ว่าท้ายที่สุดแล้วจะสามารถเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาได้จริงหรือไม่ เพราะกิจกรรมที่ทำกัน เป็นเพียงเวทีสัมมนา
ข้อสังเกตจากนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ (ขอสงวนนาม) ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญา หลัก 2 มาตราหลักที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้แจ้งดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 114 กับ 116 (ตระเตรียมการก่อกบฏ และยุยงปลุกปั่น) แต่ละมาตราล้วนมีบทบัญญัติกำกับเอาไว้เป็นองค์ประกอบความผิดว่า “ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย” หรือ “ถึงขั้นจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” ทั้งสิ้น
โดยมาตรา 114 แม้จะไม่ได้มีบทบัญญัตินี้โดยตรง แต่การตระเตรียมก่อกบฏ ต้องเป็นการ “สะสมกำลังพลหรืออาวุธ” ขณะที่การก่อกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ต้องมีพฤติการณ์ “ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย” จึงจะครบองค์ประกอบความผิด
สรุปง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดินก็คือ การก่อกบฏ แค่คิดอยู่ในหัว หรือพูดออกมา ตะโกนออกมา ยังไม่น่าจะมีความผิด เพราะต้องใช้กำลัง หรือตระเตรียมกำลังพลหรืออาวุธด้วย หากจะยุยงปลุกปั่น ก็ต้องถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง จึงจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
เช่นเดียวกับการไปพูดบนเวทีสัมมนาว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ ก็เคยมีคดีตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งศาลยกฟ้อง
ส่วนความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร จะเป็นความผิดตามกฎหมาย ก็ต่อเมื่อสิ่งที่ “อั้งยี่” หรือ “ซ่องโจร” นั้นไปกระทำ หรือเตรียมไปกระทำ ต้องเป็นความผิดเสียก่อน กล่าวคือหากความผิดหลัก คือ ก่อกบฏ หรือตระเตรียมก่อกบฏ ไม่เป็นความผิด ก็จะไม่ผิดฐาน อั้งยี่ ซ่องโจร
นี่เป็นความเห็นของนักกฎหมายที่อาจจะมีมุมมองอีกด้าน ฉะนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของการเขี่ยลูกทางกฎหมายโดยฝ่ายความมั่นคง จึงน่าจะเป็นเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลักมากกว่า
@@ กฏหมายเปลี่ยนความคิด “แยกดินแดน” ได้จริงหรือ?
คำถามที่แหลมคมต่อสถานการณ์ก็คือ เมื่อประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจรัฐ ต้องการแยกตัวตั้งรัฐใหม่ หรือสถาปนาการปกครองแบบใหม่ ผู้มีอำนาจและสังคมส่วนรวมจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดอยากแยกดินแดน ในโลกยุคปัจจุบัน แก้ไขได้ด้วยกฎหมายและการลงโทษแน่หรือ เพราะฝ่ายที่คิดแบ่งแยกดินแดน มีเครื่องมือในการเคลื่อนไหว เผยแพร่ความคิดความเชื่อ คือ สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย
บทเรียนจากแคว้นกาตาลุญญา ของสเปน แม้ไปไม่ถึงเอกราชในทางกฎหมาย แต่การใช้กฎหมายจัดการ สามารถเปลี่ยนความคิดความเชื่อชนพื้นเมืองในแคว้นกาตาลุญญาได้จริงหรือไม่
หรือทางออกที่แท้จริงของปัญหานี้คือการทำความเข้าใจ การกระจายอำนาจ การสร้างการมีส่วนร่วม และการร่วมพัฒนาอย่างจริงใจ…เป็นเรื่องที่สังคมต้องขบคิดร่วมกัน
ที่มา: isranews.org