ข่าวในประเทศ

พบปมซ้อมทรมาน สั่งเก็บข้อมูลบันทึกภาพ-เสียงจนคดีถึงที่สุด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย-ทรมานฯ) ได้ลงนามประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566

ทั้งยังมีแบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหาย-ทรมานฯ (ปท.1) เพื่อเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วย อันประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องและมีมาตรฐานเดียวกัน

ระเบียบดังกล่าวมีรายละเอียดที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

หมวดที่ 1 การบันทึกภาพและเสียง แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 การบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุม

– ให้เจ้าหน้าที่บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับกุมและควบคุมตัวจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ให้บันทึกในแบบ ปท.1

– ให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงผู้ถูกควบคุม ขณะจับกุมและควบคุมที่เกิดขึ้นไว้ และไม่กระทำการใดๆ ด้วยความจงใจให้ประสิทธิภาพของการบันทึกภาพและเสียงลดลง กรณีไม่สามารถบันทึกภาพและเสียงได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัยนั้น เมื่อเหตุสุดวิสัยสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการบันทึกภาพและเสียงในทันทีเท่าที่จะกระทำได้

preventtorture26092

ส่วนที่ 2 การเก็บรักษาและการเผยแพร่สิ่งบันทึกภาพและเสียง

– เก็บรักษาสิ่งบันทึกภาพและเสียงตามมาตรา 22 ให้เป็นไปตามที่แต่ละหน่วยงานกำหนด

– ในกรณีที่ศูนย์รับแจ้งเหตุตรวจสอบการควบคุมตัวแล้ว ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทรมาน ให้เก็บรักษาสิ่งบันทึกภาพและเสียงต่อไปอีกอย่างน้อย 180 วันนับตั้งแต่วันแจ้งควบคุมตัว เว้นแต่ผู้ถูกจับกุมและควบคุมได้รับอันตรายสาหัสและเสียชีวิต ให้เก็บรักษาสิ่งบันทึกภาพและเสียงต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี นับตั้งแต่วันแจ้งควบคุมตัว

– หากมีการดำเนินการตามมาตรา 26, มาตรา 29 หรือมาตรา 31 ให้เก็บสิ่งบันทึกภาพและเสียงจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือขาดอายุความ (มีการร้องเรียนว่ามีการกระทำทรมาน หรือผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย)

– ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ คัดลอก เปิดเผย ลบหรือทำลาย สิ่งบันทึกภาพและเสียง ยกเว้นเพื่อการตรวจสอบ การสืบสวนสอบสวน การพิจารณาคดี หรือดำเนินการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้

หมวดที่ 2 การแจ้งการควบคุมตัวและการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

– เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล โดยมีการบันทึกภาพและเสียงแล้ว ให้แจ้งข้อมูลแก่พนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ควบคุมตัว ผ่านศูนย์รับแจ้งฯโดยทันทีที่มีข้อมูล ชื่อ สกุล อายุ เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ถูกควบคุม วันเวลา สถานที่ที่ทำการจับกุม พฤติกรรมในการจับกุมโดยย่อ

รวมถึงสถานที่นำตัวไปควบคุม ภาพถ่ายผู้ถูกควบคุม และข้อมูล ชื่อ สกุล ตำแหน่ง หมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมและเหตุสุดวิสัยในกรณีที่บันทึกภาพและเสียงไม่ได้ โดยให้บันทึกข้อมูลในแบบบันทึก ปท.1 และเก็บเป็นหลักฐานไว้กับหน่วยงาน

– เมื่อศูนย์รับแจ้งฯ ดำเนินการรับแจ้งแล้ว ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองผู้รับแจ้งตรวจสอบการควบคุมตัว หากพบว่าการควบคุมตัวมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทรมาน ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพร่างกาย เสื้อผ้าของผู้ถูกควบคุม พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อขอสำเนาบันทึกการจับกุม และข้อมูลสิ่งบันทึกภาพและเสียงมาเป็นพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนของศาลตามมาตรา 26

– บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 26 อาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการท้องที่พร้อมพยานหลักฐาน เพื่อให้พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 26 โดยให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา