ลุ้นหนัก! ดีลสองผู้นำ “ไทย-มาเลย์” ล่ม-เลื่อน หรือลุย?
ข่าวใหญ่เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ที่ว่า นายกฯมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม กับ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ของไทย จะพบปะกันที่นราธิวาส วันที่ 27 พ.ย.66 เพื่อหารือเรื่องด่านชายแดน และการยุติปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น
ล่าสุดมีข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่านัดหมายสำคัญของผู้นำทั้งสองประเทศอาจจะถูกยกเลิก หรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ได้ข้อมูลว่า “ได้ยินเขาคุยกันแบบนั้นว่ายกเลิกกำหนดการทั้งหมดแล้ว ตอนแรกจะมาสะเดา (ด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา) วันที่ 29 พ.ย. แล้วยกเลิกที่สะเดา ไปสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วันที่ 27 พ.ย. แต่วันนี้ได้ยินว่ายกเลิกอีกแล้ว”
ด้านเจ้าหน้าที่จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กล่าวว่า “ได้ยินแค่ข่าว ยังรอเอกสารจากสำนักนายกฯ แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่มีอะไรขยับเลย ไม่มีการแจ้งอะไรมาเพิ่มเติมเลย”
ขณะที่สำนักงานจังหวัดสงขลา ซึ่งเคยมีข่าวว่านายกฯทั้งสองประเทศจะนัดพบปะกันนั้น มีข้อมูลคล้ายๆ กันว่า ทางสำนักนายกฯ ยังไม่มีหนังสืออะไรแจ้งมา ยังเงียบๆ อยู่ จึงคิดว่าน่าจะไม่มาแล้ว
@@ ครูประสิทธิ์ มั่นใจเป็นจุดเริ่มของทางออก
ข่าวการพบปะกันครั้งประวัติศาสตร์ของนายกฯเศรษฐา กับนายกฯอันวาร์ เพราะมีกระแสเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อจำกัดพื้นที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งใช้ดินแดนของทั้งสองประเทศในการเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ความไม่สงบนั้น ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหลากหลาย
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นักวิชาการอิสระ อดีตครู และอดีตประธานสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า การให้มาเลเซียช่วยไทยในการกดดันกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะรู้กันดีว่าบีอาร์เอ็นพำนักอยู่มาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากว่ารัฐบาลมาเลย์ช่วยจริง กดดันจริง แล้วคุยแบบสันติ ไม่ใช่คุยกันเพื่อฆ่า แต่คุยกันเพื่อหาทางออก ก็น่าจะทำให้ปัญหาจบได้ ฝ่ายรัฐบาลก็ทำให้เกิดความสงบในพื้นที่ได้
“มาเลย์น่าจะทำตั้งนานแล้ว อาจจะจบไม่หมด แต่ก็ 90 เปอร์เซ็นต์” ครูประสิทธิ์ กล่าว
และว่า “ขอให้ทำจริง และมาเลย์ก็ควรเชิญตัวจริงมาคุยกับไทย จะได้มีความก้าวหน้า ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าจะจบ เพราะบีอาร์เอ็นก็หาทางลงอยู่ ผู้นำของบีอาร์เอ็นตอนนี้อายุเยอะ อย่างน้อยๆ ก็ 70 ปีแล้ว ชุดปฏิบัติการในพื้นที่เขาก็ดูหัว ถ้าหัวว่าอย่างไร ชุดปฏิบัติการก็ว่าแบบนั้น”
ครูประสิทธิ์ เชื่อว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องบนโต๊ะเจรจา คือ การขอสิทธิกำหนดใจตนเอง หรือ Self determination ที่ในพื้นที่เคยมีการพยายามจัดเสวนาเพื่อทำประชามติแยกดินแดน ว่าสามารถทำได้หรือไม่
“ข้อตกลงของเขาที่เคยมีการเสนอมา เขาขอให้ปล่อยนักโทษของเขา กับมีสิทธิกำหนดใจตนเองในเรื่องการปกครอง ส่วนตรงนี้รัฐบาลมีทางออกอยู่ เพราะ อบต. อบจ.มันก็กระจายอำนาจอยู่แล้ว ไม่ได้ยาก มองว่าน่าจะไปได้ คือบีอาร์เอ็นเขาก็รู้ว่าถ้าขอเอกราชมันคงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบอกชัดเจน ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้” อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุ
@@ คนบีอาร์เอ็นเสียงแตก
ด้านแกนนำบีอาร์เอ็นรายหนึ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “มันไม่ง่ายขนาดนั้น ถ้าง่ายจริงก็คงทำไปนานแล้ว”
ความหมายของแกนนำบีอาร์เอ็นรายนี้ก็คือ แม้ไทยจะจับมือกับมาเลเซียเพื่อบีบพื้นที่เคลื่อนไหวของพวกเขา ก็ใช่ว่าจะยุติปัญหาชายแดนใต้ได้ง่ายๆ เพราะปัญหามีความซับซ้อน
ขณะที่อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น ซึ่งหันหลังให้กับขบวนการแล้ว และปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า “ถ้าความร่วมมือของสองประเทศเกิดขึ้นก็ดี แต่ต้องมีความจริงใจ สมัยคอมมิวนิสต์ (หมายถึงโจรจีนคอมมิวนิสต์) เขาถอดเสื้อเข้าไป เพื่อแสดงความจริงใจ แล้วทำทุกอย่างตามที่คุยจริง ก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลยุคนี้จะทำจริง ก็ไม่น่าจะยาก หลักการสำคัญคือ จริงใจ ทำจริง ปัญหาก็จบลงได้จริง”
ที่มา : isranews