เรือล่ม-น้ำพัด จยย.-ดินสไลด์ทับบ้าน “ตาย-สูญหาย” เพียบ!
9 ชุมชนโก-ลกยังอ่วม นายกเล็กสั่งเร่งส่งอาหาร-น้ำดื่มดูแลครบทั้ง 3 มื้อ ส่วนที่รือเสาะพบ 4 ศพเรือล่มขณะหนีน้ำแล้ว ระแงะเศร้า ดินสไลด์ทับบ้าน หายอีก 3 ชีวิต ขณะที่ อส.สายบุรีถูกน้ำพัดจมขณะขับมอเตอร์ไซค์ไปเข้าเวร ด้านแม่ทัพภาค 4 บิน ฮ.ตรวจน้ำท่วมเจาะไอร้อง ขณะที่นายกฯ ส่ง รมช.มหาดไทย เกาะติดพื้นที่ดูแลประชาชน
วันพุธที่ 27 ธ.ค.66 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยังคงทรงตัว บรรยากาศโดยทั่วไปยังมีฝนตกลงมาประปรายทั้ง 13 อำเภอ ขณะที่แม่น้ำสายหลัก 3 สายยังคงมีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง แม้ระดับน้ำลดลงจากเดิม แต่ในพื้นที่ราบลุ่มของ อ.สุไหงโก-ลก อ.ระแงะ และ อ.ตากใบบางส่วน ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่
หากไม่มีฝนตกลงมาระลอกใหม่ คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มของทั้ง 13 อำเภอของนราธิวาสจะเริ่มคลี่คลาย และกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ใน 2-3 วัน ยกเว้นบ้านเรือนประชาชนที่ปลูกสร้างอยู่ริมตลิ่งของแม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สายเท่านั้น ที่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น
ส่วนในพื้นที่ 9 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ประกอบด้วย ชุมชนหัวสะพาน, ชุมชนท่าก่อไผ่, ชุมชนท่าประปา, ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง, ชุมชนท่าชมพู, ชุมชนท่าโรงเลื่อย, ชุมชนบือเร็งนอก, ชุมชนบือเร็งใน และชุมชนกือดาบารู ยังมีระดับน้ำท่วมสูง ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน และเริ่มขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม
ล่าสุด นางสุชา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ได้ส่งเจ้าหน้าที่นำอาหารกล่องและน้ำดื่ม ลงเรือพายตระเวนแจกจ่ายตามชุมชนต่างๆ ทั้ง 3 มื้อ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
@@ พบ 4 ศพเรือล่มแล้ว – อีก 3 รายน้ำพัดดินสไลด์ยังสูญหาย
ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านสะแนะ หมู่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จำนวน 4 คน เรือล่มสูญหายไปกับกระแสน้ำ ขณะกำลังอพยพหนีน้ำนั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่พบศพทั้ง 4 คนแล้ว ประกอบด้วย นางคอตีเยาะ เจ๊ะแล อายุ 89 ปี นางอาอีเสาะ เจ๊ะบอสู อายุ 63 ปี ด.ช.นาซูฮาร์ มายิ อายุ 8 ปี และ ด.ช.มูฮัมหมัดนาบาส มายิ อายุ 2 ขวบ โดยทั้งหมดถูกกระแสน้ำพัดไปโผล่ในพื้นที่ ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา
ส่วนชาวบ้านอีก 3 ราย ประกอบด้วย นางพิน ชัยลาภ, นายมะซูกรี แมดารู และ น.ส.นูรา กะนิ ที่ถูกกระแสน้ำพัดดินสไลด์ทับบ้าน และสูญหายไปกับกระแสน้ำ เหตุเกิดในพื้นที่ ต.กาลิชา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขณะนี้ยังไม่พบตัว
@@ แม่ทัพภาค 4 บิน ฮ.ตรวจน้ำท่วมเจาะไอร้อง
วันเดียวกัน พล.ท.ศานติ ศุกนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พบสภาพน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและบ้านเรือนของประชาชน ถนนหนทาง โรงเรียน มัสยิดและวัด ในพื้นที่ หมู่ 6, หมู่ 7 และ หมู่ 10 ต.มะรือโบออก
จากนั้นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปยังวัดปิเหล็ง หมู่ 6 ต.มะรือโบออก ซึ่งเปิดเป็นศูนย์อพยพชั่วคราว มีชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมบ้าน อพยพมาอาศัยอยู่จำนวน 150 คน โดยแม่ทัพได้มอบถุงยังชีพเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมสั่งการให้หน่วยทหารที่รับผิดชอบจัดหาสิ่งของที่จำเป็นให้กับผู้ประสบภัย
@@ อส.สายบุรี ถูกน้ำพัดหาย ขณะเดินทางเข้าเวร
ที่ จ.ปัตตานี เมื่อเวลา 00.30 น.วันพุธที่ 27 ธ.ค.66 อส.วรเวทย์ กาฬสุวรรณ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน อ.สายบุรี ถูกน้ำพัดหาย ขณะเดินทางไปเข้าเวร เหตุเกิดบนถนนสายกะลาพอ เทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี ก่อนถึง จุดตรวจ-จุดสกัด ด่านบ้านใต้ ประมาณ 100 เมตร
จากการสอบสวนทราบว่า เหตุเกิดขณะที่ อส.วรเวทย์ กำลังเดินทางเพื่อไปเข้าเวร ณ จุดตรวจ-จุดสกัด ด่านบ้านใต้ โดยขับขี่รถจักรยานยนต์ไปเพียงคนเดียว เมื่อขับไปถึงบริเวณที่น้ำท่วมไหลผ่านถนน รถได้เสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้ อส.วรเวทย์ ซึ่งอยู่ในชุดสวมเสื้อเกราะและสะพายอาวุธปืนยาวประจำกาย ถูกกระแสน้ำพัดลงข้างทางสูญหายไป
ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานหน่วยกู้ภัยและนักประดาน้ำช่วยกันค้นหาร่างของ อส.วรเวทย์ แต่ยังไม่พบ
@@ “ทวี” ลุยน้ำให้กำลังใจชาวบาเจาะ
เวลา 17.30 น. วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และคณะ ประกอบด้วย นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ โฆษกพรรคประชาชาติ, นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา เขต 2 และ นายธนาวิทย์ ไชยานุพงศ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาชาติ เดินทางด้วยเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ ลัดเลาะไปตามกระแสน้ำที่ท่วมขังสูงประมาณ 1.5 เมตรในพื้นที่บ้านชะมูแว หมู่ 10 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำสายบุรี และได้รับผลกระทบจากมวลน้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วม เพื่อเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มีการมอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม พร้อมแจ้งช่องทางประสานขอความช่วยเหลือจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
จากนั้น คณะของ พ.ต.อ.ทวี ขึ้นรถยนต์เดินทางไปยังมัสยิดนูรฮานุดดีน ในท้องที่บ้านบาตู หมู่ 6 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ เพื่อแจกถุงยังชีพให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมเดินพบปะพูดคุยกับประชาชน และสอบถามถึงความเป็นอยู่ ซึ่งสถานการณ์โดยภาพรวมบริมาณน้ำท่วมขังเริ่มทรงตัว แต่ระดับน้ำยังสูง หากมีฝนตกซ้ำลงมาอีก ชาวบ้านบางส่วนอาจต้องอพยพไปอยู่นอกพื้นที่
@@ เยี่ยมจิตอาสา – ชิมข้าวผัดปลากระป๋อง
โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้เดินไปยังบริเวณสะพานกอตอ ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่าง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กับ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังกับชาวบ้านจิตอาสาที่ร่วมกันปรุงอาหารเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่หมู่บ้านบาติ และชุมชนใกล้เคียง ทั้งยังให้เกียรติชิมอาหารกล่องที่จิตอาสาปรุง เป็นข้าวผัดปลากระป๋อง โดย พ.ต.อ.ทวี ได้พูดคุยกับจิตอาสาอย่างอารมณ์ดีว่า “ข้าวผัดปลากระป๋องอร่อยมาก นานๆได้กินสักครั้ง”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เฉียบพลันมาก พื้นที่แห่งนี้อยู่ติดกับ จ.ปัตตานี ติดกับแม่น้ำสายบุรี ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือแล้ว พี่น้องประชาชนบางคนยังรักบ้าน เป็นห่วงบ้าน จึงไม่ยอมอพยพย้ายออก ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งอุทกภัยหนักระดับนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี
@@ สส.สะท้อนความเดือดร้อน นายกฯรับลูกเร่งลงพื้นที่
“สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นว่าการช่วยเหลือของเราอาจจะต้องปรับรูปแบบ โดยเฉพาะ อบต.ปะลุกาสาเมาะแห่งนี้ เพิ่งซื้อเรือมา ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์พอก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นมาแล้ว สามารถนำเรือลำนั้นมาใช้ขนย้ายสิ่งของ อพยพผู้คน ซึ่งคนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันดับที่ 1 จะเป็นภัยของยาเสพติด อันดับที่ 2 เป็นภัยความไม่สงบ และอันดับที่ 3 เป็นอุทกภัย วาตภัย”
“อีกอย่างในพื้นที่ ประชาชนมี สส. เมื่อมีเหตุอะไรก็สามารถร้องเรียนไปยัง สส. เรื่องก็จะเข้าถึงรัฐบาลเร็วขึ้น จะเห็นได้ว่านักการเมืองคนแรกที่มานราธิวาสก็คือนายกรัฐมนตรี เพราะเสียงของ สส. ขณะที่นั่งประชุมกัน นายกฯได้ถามถึงเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสที่รุนแรง ก็เลยเปลี่ยนกำหนดการประชุมให้เร็วขึ้น และเดินทางมาเยี่ยมประชาชนที่นราธิวาสทันที ซึ่งการมาเยี่ยมอาจใช้เวลาน้อย แต่เป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งประชาชน รัฐบาลจะดูแลประชาชน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
@@ ลงพื้นที่ อ.รามัน เยี่ยมบ้าน อ.วันนอร์
ช่วงค่ำวันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี เดินทางลงพื้นที่ อ.รามัน ซึ่งเป็นจุดที่น้ำท่วมหนักที่สุดจุดหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นบ้านเกิดของ อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย
@@ นายกฯ ส่ง รมช.มหาดไทย เกาะติดพื้นที่
ส่วนที่ อ.รามัน จ.ยะลา นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะผู้ช่วยรัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม โดยเดินทางไปยังศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย วิทยาลัยการอาชีพรามัน อ.รามัน เยี่ยมชาวบ้านผู้ประสบภัยและมอบถุงยังชีพ 300 ถุง พร้อมข้าวกล่อง
จากนั้นเดินทางต่อไปในพื้นที่ ต.อาซ่อง เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัย มอบถุงยังชีพ และไปต่อยังจุดอพยพชั่วคราวที่ หมู่ 3 ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา เพื่อมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับครอบครัวอพยพ จำนวน 20 ครอบครัว
นายเกรียง กล่าวว่า เดินทางลงพื้นที่เป็นตัวแทนนายกฯเศรษฐา นำความห่วงใยและความปรารถนาดีมาเยี่ยมเยียน พร้อมรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ และให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยได้สั่งการหลังน้ำลด สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด คือ จะนำอาหารปรุงสุกช่วยเหลือในเบื้องต้น และสิ่งของที่จำเป็น เครื่องครัวต่างๆ ข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงการซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
“ขอฝากพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้สบายใจได้ ทุกหน่วยราชการยินดีให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งองค์กรเอกชนก็เข้ามาร่วมจำนวนมาก ทางส่วนกลางก็ไม่ได้ละเลย ท่านนายกฯได้สั่งการให้อยู่ที่นี่ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเป็นปกติ” รมช.มหาดไทย กล่าว
@@ ระทึก! คอสะพาน อ.รามัน ถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย
ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา เริ่มดีขึ้น หลังระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรี ในพื้นที่ อ.รามัน อ.เมืองยะลา และคลองละแอ ในพื้นที่ อ.ยะหา เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงไหลล้นตลิ่งอยู่ ขณะที่ฝนหยุดตกแล้ว ประชาชนเริ่มสำรวจความเสียหายของบ้านเรือน และพื้นที่ต่างๆ ถนนหนทางที่จมน้ำได้รับความเสียหาย
ในพื้นที่ อ.รามัน พบคอสะพานบริเวณเส้นทางตะโละหะลอ-รามัน ถูกน้ำกัดเซาะจนทรุดตัว พังเสียหาย ซึ่งทางแขวงทางหลวงยะลาได้ประสานเจ้าหน้าที่ อบต.ตะโละหะลอ ให้นำรถแบคโฮเข้ารื้อผิวถนนที่ได้รับความเสียหายออก พร้อมทั้งนำรถสิบล้อบรรทุกดินและหินเข้าไปซ่อมแซมเป็นการด่วน
@@ ของแจกไม่พอ ผู้นำไม่กล้าเข้าพื้นที่ช่วยน้ำท่วม
อุทกภัยใหญ่ในภาคใต้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งสามจังหวัดชายแดน นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ประชาชนในพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวนมาก ทั้งเสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าละหมาด รวมถึงอาหาร ยารักษาโรค ผ้าอนามัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ น้ำสะอาด และอาหารเหลวสำหรับเด็ก โดยเฉพาะ “เทียน” เพื่อจุดไฟส่องสว่าง เนื่องจากไฟฟ้าถูกตัดทั้งหมด
สถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ มีสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคของทางราชการลงไปในพื้นที่บ้างแล้ว แต่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้เดือดร้อน ทำให้หลายพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ไม่กล้าเข้าไปแจกของ เนื่องจากสิ่งของมีไม่พอกับจำนวนผู้ประสบภัย ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะทหาร ก็พยายามเข้าพื้นที่เช่นกัน แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงอยู่ดี
@@ ภาคประชาสังคม จชต.เปิดรับบริจาคช่วยน้ำท่วม
ล่าสุด ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ซึ่งมีผู้สื่อข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมทำงานอยู่ในศูนย์ด้วย รวมทั้งผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางศูนย์ฯ จึงเปิดรับบริจาคสิ่งของจากผู้ใหญ่ใจดี รวมถึงผู้มีจิตศรัทธา
สามารถส่งของไปได้ที่ ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ เลขที่ 161/1 หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา 95120 โทร 083-1715419
หรือช่วยเป็นเงินผ่านบัญชี “การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน” ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เลขที่บัญชี 0961091347
@@ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) มอบถุงยังชีพพระราชทาน
ทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมทีมเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)อาสา ปฏิบัติการภัยพิบัติ ได้นำถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 3,050 ถุง ส่งมอบให้กับทาง ศอ.บต. เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน ตลอดจนพระภิกษุที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ทั้งนี้ ทาง ศอ.บต.ได้ร้องขอให้ทางมูลนิธิฯ นำถุงยังชีพ จำนวน 525 ถุง ไปส่งให้พื้นที่ จ.นราธิวาส ที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส เพื่อนำไปส่งต่อให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ด้วย
นอกจากนั้นทางมูลนิธิฯ ยังได้เข้าหารือร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ยะลา และต้นแบบเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ และการวางแผนในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่มา : isranews