ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้

ตรวจพิสูจน์ DNA “คนไทย” ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร์ในมาเลเซีย

ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดโครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ประจำปี 2566 โดยมี นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ โครงการนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2560 และเว้นช่วงไปในปี 2563-2565 เนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในปีนี้จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ศอ.บต. และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ เข้าร่วมด้วย โดยผู้ที่เข้าร่วมตรวจสารพันธุกรรม ณ เมืองโกตาบารูในครั้งนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎรให้ได้รับการตรวจพิสูจน์สัญชาติ เพื่อทำให้คนไทยกลุ่มนี้ได้รับสถานะ และมีสิทธิในการเข้ารับการบริการจากทั้งสถานกงสุลใหญ่ และหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยได้อย่างครบถ้วน

ทาง ศอ.บต. ร่วมกับกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู จึงเริ่มโครงการนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 ที่เมืองโกตาบารู และพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีตัวตน จึงได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดรวมแล้วประมาณ 2,018 คน และในครั้งนี้กลับมาเมืองโกตาบารูอีกครั้ง ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้พี่น้องเหล่านี้เป็นคนไทยที่มีสถานะ หรือมีตัวตนอย่างสมบูรณ์ มีสิทธิในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย ได้เรียน ได้ทำงาน ได้รักษาพยาบาล การขับเคลื่อนโครงการนี้เป็นโครงการที่มีคุณค่า และมีความหมายมาก เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นพลเมืองไทยที่มีตัวตนโดยสมบูรณ์

ด้าน น.ส.นิรุสอามานี ราแด หนึ่งในผู้ที่เดินทางมาตรวจสารพันธุกรรม (DNA) กล่าวว่า เดินทางมาตรวจ DNA เพื่อจะทำบัตรประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าไม่มีบัตรประชาชนจะทำอะไรไม่ได้เลย จะเข้าโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เหมือนไม่มีตัวตนในสังคม หลังจากได้บัตรประชาชนแล้วจะเดินทางกลับประเทศไทยทันที จะกลับไปหางานที่ประเทศไทย ดีใจมาก ๆ ที่ทางกงสุลใหญ่และหน่วยงานภาครัฐได้อำนวยความสะดวก เปิดโอกาสในการตรวจ DNA เมื่อได้ยินว่าทางกงสุลมีโครงการนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็สนใจและมาทันที ขอบคุณทุกหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึง 2566 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้เข้าร่วมตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม 2,018 คน ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรแล้ว 833 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,185 คน และมีผู้เข้าร่วมพิสูจน์สารพันธุกรรม ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2560-2563 จำนวน 256 คน ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไปแล้ว 141 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 115 คน และในปี 2566 มีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย จำนวน 98 คน

ที่มา : thaipbs.or.th และ mgronline.com