ข่าวต่างประเทศ

ไม่บังเอิญ! ตั้งอดีตบิ๊ก สมช.มาเลย์นั่งผู้อำนวยความสะดวกฯคนใหม่

newfacilitator06070

ฝ่ายความมั่นคงไทยจับตาอย่างใกล้ชิดกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลมาเลเซีย กรณีเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนตัวผู้รับภารกิจนี้ จากอดีตนายทหารระดับสูง มาเป็นอดีตผู้อำนวยการใหญ่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

สื่อมาเลเซียมีรายงานช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค.67 ว่า รัฐบาลมาเลเซียได้มีการแต่งตั้ง Datuk Seri Mohd Rabin Basir (ดาโต๊ะ สรี โมห์ด ราบิน บาซีร์ หรือ ดาโต๊ะ สรี โมหะมัด ราบิน บาซีร์) อดีตผู้อำนวยการใหญ่สภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย (Facilitator) เพื่อประสานงานกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.67 ที่ผ่านมา

โดย ดาโต๊ะ โมหะมัดราบิน บาซีร์ เข้ามาทำหน้าที่แทน พลเอกซุลกิฟลี ไซนัล อาบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกฯคนเดิม ซึ่งเสร็จสิ้นหน้าที่ไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ยที่ผ่านมา

รายงานข่าวของสื่อมาเลเซีย สอดคล้องกับรายงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมีการตั้งข้อสังเกตในพื้นที่ว่า สาเหตุของการเปลี่ยนตัวอาจมาจากความล่าช้าและไม่คืบหน้าของกระบวนการพูดคุย โดยเฉพาะคณะทำงานฝ่ายเทคนิคจากทั้งบีอาร์เอ็นและรัฐบาลที่มีการพบปะหารือกันมาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่กลับยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหลักเพื่อเดินหน้ากระบวนการสันติภาพและสันติสุขที่เป็นรูปธรรมต่อไปได้

สำหรับการพูดคุยสันติสุขฯ แบบเต็มคณะครั้งใหม่ จะเริ่มมีขึ้นในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ ส่วนในช่วงกลางเดือน ก.ค. จะมีการหารือของฝ่ายเทคนิคเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งมี พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของไทย และมี นายนิมะ เจ๊ะแต เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของบีอาร์เอ็น

@@ รู้จักผู้อำนวยความสะดวกสายพลเรือน จบ ป.โท

ประวัติของ ดาโต๊ะ โมหะมัด ราบิน บาซีร์ ปัจจุบันอายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การศึกษาด้านการป้องกัน เกียรตินิยม) จาก Universiti Kebangsaan Malaysia

ประวัติการทำงาน
ปี 2528 จนถึงปี 2529 เริ่มงานที่ Asia Commercial Finance (M) Berhad ในแผนกสถิติ
ปี 2531 เข้าร่วมแผนกวิจัยของสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ
ปี 2534 ถึง 2536 ดำรงตำแหน่งเลขานุการคนที่สองในสถานทูตมาเลเชียประจำกรุง
พนมเปญ ประเทศกัมพูชา
ปี 2536 ถึง 2540 กลับมายังมาเลเซียและรับตำแหน่งเดิม คือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2540 ดำรงตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตมาเลเชีย ณ กรุงย่างกุ้ง
ประเทศเมียนมา
ปี 2546 เดินทางกลับมาเลเชีย และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย
ของสำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2547 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิเศษของสถานทูตมาเลเชียประจำกรุงซิดนีย์ ประเทศ
ออสเตรเลีย
ปี 2549 หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่แห่งมาเลเชียในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในตำแหน่งกงสุล
ปี 2554 กลับมาเลเชีย
ปี 2555ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิจัยของสำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2560 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารเชิงกลยุทธ์ภายใต้สภาความมั่นคง
แห่งชาติมาเลเชีย สำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2661 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเชีย
ปี 2563 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเชีย
ปี 2564 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี
เดือน เม.ย.2565 เกษียณจากตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากรับราชการมากว่า 34 ปี

@@ ไม่เกี่ยวคาร์บอมบ์ แต่อาจโยง “ทักษิณ” พบ “อันวาร์”

การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ในช่วงนี้ ถูกมองเชื่อมโยงกับ 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ คาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 67 ที่หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นเหตุรุนแรงใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ

ขณะเดียวกันก็มีการมองไปถึงการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ของไทย กับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย ที่ภูเก็ต เมื่อปลายเดือน เม.ย.ต่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระดับสูงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคง เผยว่า ข้อมูลทางการข่าวเชื่อว่าการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ ไม่เกี่ยวกับการก่อเหตุคาร์บอมบ์ แต่การวางระเบิดครั้งใหญ่น่าจะเป็นการตอบโต้ที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ.บันนังสตา มากกว่า

ขณะที่เป้าหมายแฟลตตำรวจ เป็นเป้าหมายที่เฝ้าระวังได้ยากมาก เพราะอยู่ติดถนน มีรถจอดข้างทางตลอดแนว และไม่มีการ รปภ.เลย จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงจะก่อเหตุต่อเป้าหมายนี้

ส่วนกรณีอดีตนายกฯทักษิณไปคุยกับนายกฯมาเลเซีย ก็อาจเป็นไปไดัที่ทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้อำนวยความสะดวกทุกคนมักเป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรีไว้วางใจและเลือกมาทำงาน

@@ ไม่บังเอิญ ใช้คน สมช.ประสานกันเอง

“คนก่อนหน้านี้เป็นทหาร เข้าใจว่านอกจากนายกฯมาเลย์วางใจแล้ว ยังเลือกเพื่อให้สามารถคุยกับฝ่ายไทยที่เป็นทหารได้ เพราะในยุคนั้นตั้งแต่นายกฯลงมาถึงหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นทหารทั้งสิ้น (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับหัวหน้าคณะพูดคุยฯ อย่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ)” แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญงานความมั่นคง ระบุ

และว่า “หัวหน้าคณะฝ่ายเราก็เป็นรองเลขาธิการ สมช. (นายฉัตรชัย บางชวด) เขาเลือกอดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติมา คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ”

@@ เชี่ยวชาญงานการทูต – หวั่นหนุนแนวคิดแยกดินแดน

แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้อำนวยความสะดวกฯคนใหม่ของมาเลเซีย มีประสบการณ์โชกโชนด้านการทูต และที่สำคัญเคยทำภารกิจแก้ปัญหามินดาเนาของฟิลิปปินส์ด้วย จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างมาก

“โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวก่อนหน้าการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกฯคนใหม่ ปรากฏว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียได้ออกคำแถลงการณ์เรื่องการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและคลุกคลีกับงานจังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียเขียนคำแถลงออกมาให้เป็นบวกกับฝ่ายที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน” แหล่งข่าวระบุ

พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า บุคคลระดับสูงในมาเลเซียยุคนี้ ก็มีบทบาทสนับสนุนภาคประชาสังคมบางส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้มีแนวทางการเคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐ

@@ เชื่อสาเหตุจากเจรจาไม่คืบหน้า คาร์บอมบ์ส่งสัญญาณ

ด้านเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนในพื้นที่ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า มีความคาดหวังว่าผู้อำนวยความสะดวกฯจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เป็นกลาง และมีความเป็นมืออาชีพ มีเป้าหมายทิศทางในการเจรจาและตัวชี้วัดผลสัมฤทธ์ของการเจรจา

อุสมาน อูแล ชาวบันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า ชาวบ้านมีความหวังต่อการเจรจา เพราะระเบิดคาร์บอมบ์ที่ลงหน้าแฟลตตำรวจ สภากาแฟในพื้นที่คุยกันว่า เป็นคาร์บอมบ์ที่ต้องการส่งสัญญาณไปถึงการเจรจาให้มีความคืบหน้า จึงเชื่่อว่าฝ่ายขบวนการน่าจะรู้แล้วว่าจะมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ คาดว่าเมื่อเปลี่ยนแล้วจะมีบางอย่างดีขึ้นกว่าเดิม และปัญหาภาคใต้อาจจะจบเร็วขึ้น

“ทีมข่าวอิศรา” พยายามสอบถามความเห็นไปยัง พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวก แต่ไม่สามารถติดต่อทั้งสองคนได้

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา