ข่าวต่างประเทศ

ผลเลือกตั้ง ‘ญี่ปุ่น’ พรรค LDP ชวดเสียงข้างมากในสภาครั้งแรกในรอบ 15 ปี จับตา ‘เปลี่ยนตัวนายกฯ’

การเมืองในญี่ปุ่นส่อแววเผชิญภาวะสับสนอลหม่านอีกครั้ง หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ (27 ต.ค.) ที่ผ่านมาปรากฏว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ พลาดครองเสียงข้างมากในสภาครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ท่ามกลางกระแสข่าวอื้อฉาวของพรรค ภาวะเงินเฟ้อพุ่ง และปัญหาค่าครองชีพสูง

อิชิบะ ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ หลังคว้าชัยในศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแอลดีพีคนใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว ประกาศกร้าววันนี้ (28) ว่าจะไม่ลาออก และขอเดินหน้าทำงานต่อ แม้การเดิมพันจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดจะกลายเป็นไฟย้อนศรที่ทำให้พรรคแอลดีพีต้องเผชิญผลเลือกตั้งที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 15 ปีก็ตาม

“ผมต้องทำหน้าที่ในการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชนและป้องกันประเทศญี่ปุ่นต่อไป” อิชิบะ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พร้อมย้ำว่าตนจะไม่ยอมให้เกิด “สุญญากาศทางการเมือง”

อิชิบะ ยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคได้ ส.ส.ลดลงมากก็คือ “ความลังเลสงสัย ความไม่ไว้วางใจ และความโกรธแค้นของประชาชน” ต่อกระแสข่าวอื้อฉาวเรื่องที่มีสมาชิกพรรคแอลดีพีบางคนจัดอีเวนต์รับเงินบริจาคโดยไม่ลงบัญชี ซึ่งเรื่องนี้เองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้อดีตนายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ ตัดสินใจสละตำแหน่งมาแล้ว

“ผมจะสั่งการปฏิรูปทั้งในเรื่องการเงินและการเมืองตั้งแต่ระดับฐานราก” อิชิบะ กล่าว พร้อมยอมรับอีกครั้งว่า ประชาชนได้หยิบยื่น “คำพิพากษาที่หนักหนาสาหัส” ให้พรรคแอลดีพี

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจต้องใช้เวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ และอาจถึงขั้นต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญทั้งมรสุมทางเศรษฐกิจและภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากจีนและเกาหลีเหนือ และเพียง 1 สัปดาห์ก่อนที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งก็ยังคาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้

พรรคแอลดีพีของ อิชิบะ และพรรคโคมิอิโตะซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลคว้าที่นั่ง ส.ส. รวมกันเพียง 215 ที่นั่ง ลดลงจากที่เคยมี 279 ที่นั่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นบทลงโทษจากประชาชนต่อกระแสข่าวฉาวของพรรคแอลดีพี รวมถึงปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังทำให้ เคอิชิ อิชิอิ (Keichi Ishii) หัวหน้าพรรคโคเมอิโตะ และรัฐมนตรีอีก 2 คนต้องกลายเป็น ส.ส. สอบตก

สำหรับผู้ชนะที่น่าจับตามองที่สุดคงหนีไม่พ้นพรรคฝ่ายค้าน Constitutional Democratic Party of Japan (CDJP) ซึ่งได้ ส.ส. มาถึง 148 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีเพียง 98 ที่นั่ง แต่กระนั้นก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ 233 ที่นั่งสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น พรรคการเมืองต่างๆ จะมีเวลา 30 วันเพื่อเจรจาจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่า อิชิบะ ที่เพิ่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ถึง 1 เดือนจะสามารถฝ่าฟันมรสุมจนอยู่รอดได้เป็นผู้นำประเทศต่อไปหรือไม่

โทเบียส แฮร์ริส ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการเมือง Japan Foresight ให้ความเห็นว่า “โอกาสที่ (อิชิบะ) จะอยู่รอดและรั้งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปมีน้อยมาก แต่ก็เป็นไปได้ที่เขาอาจจะนั่งรักษาการไปอีกระยะหนึ่ง”

โยชิฮิโกะ โนดะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน CDPJ ออกมาระบุแล้วว่าจะทำงานร่วมกับพรรคอื่นๆ เพื่อขับไล่รัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่าฉากทัศน์นี้มีความเป็นไปได้น้อย

พรรคแอลดีพีผูกขาดอำนาจปกครองญี่ปุ่นอย่างแทบไม่ขาดช่วงขาดตอนมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าผลเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นผลลัพธ์ที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่พรรคเคยสูญเสียอำนาจช่วงสั้นๆ ในศึกเลือกตั้งปี 2009

อิชิบะ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการเสริมเขี้ยวเล็บกองกำลังญี่ปุ่น และเรียกร้องให้จัดตั้ง “นาโตเอเชีย” ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดถึง 1 ปี โดยหวังว่ารัฐบาลจะได้รับอาณัติ (mandate) จากประชาชนชาวญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงแรกๆ ดูเหมือนคะแนนนิยมของตัว อิชิบะ เองน่าจะมีส่วนช่วยได้ ทว่าต่อมาก็ถูกสื่อญี่ปุ่นขยี้ตีข่าวเรื่องเงินบริจาคจนพรรคกระแสตกลงไปอีก

เสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กๆ เช่น พรรค Democratic Party for the People (DPP) หรือพรรค Japan Innovation Party (JIP) ซึ่งได้ ส.ส. มา 28 และ 38 ที่นั่งตามลำดับ คาดว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้แอลดีพีสามารถรวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ยูอิชิโร ทามากิ ผู้นำพรรค DPP และโนบุยูกิ บาบะ ผู้นำพรรค JIP ได้ออกมาประกาศจุดยืนแล้วว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับแอลดีพี แต่ยังเปิดโอกาสสำหรับการร่วมมือกันในบางเรื่อง

เครดิต : mgronline