ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้

อัยการนัดส่งตัว 5 นศ. – นักกิจกรรม คดีประชามติ 13 พ.ย.นี้

พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี นัดส่งตัวนักศึกษาและนักกิจกรรม 5 คนที่ถูกฟ้องดำเนินคดีจากการจัดเสวนาการแสวงหาทางออกทางการเมืองและการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination) และจัดกิจกรรมประชามติจำลอง ไปยังอัยการจังหวัดปัตตานี โดยทางอัยการจะนัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 อีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย.67

โดยนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 5 คน ประกอบด้วย

1.นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani
2.นายฮากิม พงติกอ เลขาธิการ The Patani
3.นายอิรฟาน อูมา ประธาน Pelajar Bangsa
4.นายสารีฟ สะเเลมัน
5.นายฮุซเซ็น บือแน

ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

อนึ่ง การจัดเสวนาการแสวงหาทางออกทางการเมืองและการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination) และจัดกิจกรรมประชามติจำลอง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถูกฝ่ายความมั่นคงที่เป็นผู้ฟ้องมองว่า อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากเป็นการนำเสนอแนวคิดที่ท้าทายต่อแนวทางของรัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้

เรียกร้องยุติดำเนินคดี กรณี “ประชามติจำลอง”

donatemalaysuitcase09104

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักกิจกรรม นักศึกษา และภาคประชาสังคม 33 องค์กร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับนักศึกษาและประชาชน (คดีประชามติจำลองและอื่นๆ) โดยมีเนื้อหาระบุว่า

“ด้วยกรณีการดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมที่จัดกิจกรรมเสวนาประเด็นสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี โดยภายหลังการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน มีการดำเนินคดีต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ทางนักกิจกรรมนักศึกษาและภาคประชาสังคม มีความกังวลอย่างยิ่งกับการดำเนินคดีความต่อนักศึกษานักกิจกรรมในพื้นที่ การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ และส่งผลกระทบต่อบทบาทการบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัย

และเพื่อให้เป็นหมุดหมายสำคัญในการแสวงหาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานี จังหวัดชายแดนใต้ ทางนักกิจกรรมนักศึกษาและภาคประชาสังคม ขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมนักศึกษาในลักษณะยับยั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองโดยเร็วที่สุด”

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา