ข่าวต่างประเทศ

การล่มสลายของอัสซาดมีความหมายต่อโลกอย่างไร

ซีเรียอยู่ตรงใจกลางของตะวันออกกลาง และการล่มสลายของ “ระบอบอัสซาด” จะเปลี่ยนสมดุลอำนาจในภูมิภาคและโลก ประเทศต่าง ๆ รวมถึงรัสเซีย ตุรกี อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ ต่างเข้ามาแทรกแซงในสงครามที่กินเวลายาวนานถึง 14 ปี เช่นเดียวกับกองกำลังจากเลบานอนด้วย แล้วการล่มสลายของอัสซาดมีความหมายต่อประเทศเหล่านี้อย่างไร ?

รัสเซีย

รัสเซียเป็นพันธมิตรสำคัญของ บาชาร์ อัล-อัสซาด และสื่อของทางการรัสเซียรายงานว่าเขาและครอบครัวเดินทางถึงกรุงมอสโกและได้รับสิทธิลี้ภัยแล้ว “ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม”

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยตนเอง

รัสเซียกล่าวว่า ฐานทัพของรัสเซียในประเทศซีเรียอยู่ในภาวะ “เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด” แต่แหล่งข่าวจากรัฐบาลรัสเซียที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อแจ้งต่อสื่อของรัสเซียว่า กลุ่มกบฏได้รับประกันความปลอดภัยของฐานทัพรัสเซียในซีเรีย

รัสเซียเข้าร่วมความขัดแย้งในซีเรียโดยตรงในปี 2015 เมื่อพวกเขาเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อพื้นที่ที่ฝ่ายต่อต้านยึดครองเป็นครั้งแรก การเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามของรัสเซียเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีอัสซาดสามารถยึดคืนพื้นที่จากกลุ่มกบฏได้เกือบทั้งหมดในระหว่างปี 2015-2016

ปัจจุบันมอสโกเรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

สตีฟ โรเซนเบิร์ก บรรณาธิการบีบีซีประจำรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียกังวลใจอย่างมากต่อชะตากรรมของฐานทัพทหาร 2 แห่ง ได้แก่ฐานทัพอากาศฮมีเมียม (Hmeimim) และฐานทัพเรือที่ทาร์ทัส (Tartus) ซึ่งทั้งคู่ตั้งอยู่แถบชายฝั่ง ฐานทัพทั้ง 2 แห่งนี้ช่วยให้มอสโกมีฐานที่มั่นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“แม้ว่ามอสโกจะสนับสนุน บาชาร์ อัล-อัสซาด มาเป็นเวลา 9 ปี และส่งความช่วยเหลือทางการทหารเพื่อค้ำยันและรักษาอำนาจของเขาไว้ แต่ตอนนี้เมื่ออัสซาดถูกโค่นล้มแล้ว รัสเซียกำลังพยายามหาทางเปิดการเจรจากับผู้นำคนใหม่ในซีเรีย”

“ตอนนี้รัสเซียกำลังเน้นย้ำว่า พวกเขาต้องการยุติวิกฤตทางการเมืองนี้มาตลอด”

“สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่นานนี้ สื่อรัสเซียเรียก ‘ฝ่ายต่อต้านติดอาวุธในซีเรีย’ ว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ แต่คำนี้หายไปจากการรายงานข่าวที่นี่ (ในรัสเซีย) และตอนนี้พวกเขาถูกเรียกว่า ‘ฝ่ายต่อต้านติดอาวุธ’ หรือ ‘ฝ่ายต่อต้าน’ เฉย ๆ”

อิหร่าน

อิหร่าน ซึ่งเป็นอีกประเทศที่สนับสนุนระบอบการปกครองของอัสซาด กล่าวว่า พวกเขาคาดหวังว่าความสัมพันธ์ “ที่เป็นมิตร” กับซีเรียจะยังดำเนินต่อไป

อิหร่านให้การสนับสนุนทางการทหารอย่างมีนัยสำคัญแก่กองกำลังของอัสซาด และฝึกหนึ่งในกองกำลังกึ่งทหารซึ่งต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านติดอาวุธในช่วงที่สงครามซีเรียทวีความรุนแรงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ฮูโก บาเชกา ผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางของบีบีซี กล่าวว่า อิทธิพลของอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

“ซีเรียภายใต้การนำของอัสซาดเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อระหว่างอิหร่านกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังติดอาวุธ และขบวนการทางการเมืองที่อิหร่านให้การสนับสนุนในเลบานอน ซีเรียมีบทบาทสำคัญต่อการถ่ายโอนอาวุธและกระสุนให้กับกลุ่มเหล่านี้”

“กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เองก็อ่อนแอลงอย่างมากหลังทำสงครามกับอิสราเอล ในช่วงที่รุนแรงที่สุดของสงครามกลางเมืองในซีเรีย อิหร่านส่งที่ปรึกษาไปยังซีเรีย และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็ส่งนักรบไปช่วยอัสซาดปราบปรามฝ่ายต่อต้าน”

“อิหร่านยังพบว่ากลุ่มฮูตีในเยเมนตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศอีกด้วย กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ รวมถึงกองกำลังติดอาวุธในอิรักและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ก่อตั้งกลุ่มที่เตหะรานเรียกว่า แกนแห่งการต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก”

“ภาพใหม่นี้จะได้รับการเฉลิมฉลองในอิสราเอล เนื่องจากอิหร่านถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของพวกเขา”

สหรัฐฯ และชาติตะวันตก

แฟรงก์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของบีบีซี กล่าวว่า ชาติตะวันตกต่างคาดหวังอย่างสูงในตัวอัสซาด จักษุแพทย์หนุ่มผู้ได้รับการศึกษาจากอังกฤษ ตอนที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดีซีเรียในปี 2000

“ผู้คนต่างกล่าวกันว่าเขาคงจะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ หลังการปกครองแบบเผด็จการที่กดขี่ข่มเหงผู้คนมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษ โดย ฮาเฟซ บิดาผู้ล่วงลับของเขา ซึ่งเป็นที่จดจำมากที่สุดจากการออกคำสั่งสังหารหมู่ประชาชนกว่า 10,000 คนในเมืองฮามาในปี 1982”

“เช่นเดียวกับผู้ปกครองรุ่นใหม่ในชาติอาหรับอื่น ๆ ที่ขึ้นสู่อำนาจในปีเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน และกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก กล่าวกันว่าบาชาร์เป็นคนสมัยใหม่ที่ต้องการดึงซีเรียเข้าสู่ยุคดิจิทัล”

“ความผิดหวังของชาติตะวันตกเริ่มต้นขึ้นในปี 2001 เมื่อประธานาธิบดีซีเรียปฏิเสธจะร่วมประณามกลุ่มก่อการร้ายทั้งหมด ตามการริเริ่มของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์”

“‘คุณเรียกพวกเขาว่าผู้ก่อการร้าย แต่เราเรียกพวกเขาว่านักสู้เพื่ออิสรภาพ’ เป็นคำที่ บาชาร์ อัล-อัสซาด ใช้เรียกกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่ประเทศของเขาเป็นผู้จัดตั้งขึ้น”

“ในไม่ช้าอัสซาดก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ใช่นักปฏิรูป และเมื่อประชาชนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เขาก็ตอบสนองข้อเรียกร้องด้วยกระสุน ระเบิดถังน้ำมัน ก๊าซพิษซาริน และการทรมานในระดับที่เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ซีเรียกำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่ง “โอกาสทางประวัติศาสตร์” แต่สหรัฐฯ ก็ยังกังวลเกี่ยวกับสุญญากาศทางอำนาจที่อาจเกิดขึ้นเช่นกัน

สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏบางกลุ่มตั้งแต่สงครามซีเรียเริ่มต้นขึ้น แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ สนับสนุนกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces – SDF) ภายใต้การนำของชาวเคิร์ด ซึ่งควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย

ดาเนียล ชาปิโร เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า กองกำลังสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในซีเรียตะวันออกเพื่อต่อสู้กับกลุ่มที่เรียกว่า รัฐอิสลาม (Islamic State – IS) ซึ่งอาจใช้ประโยชน์จาก “สถานการณ์โกลาหลและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” เพื่อยกระดับปฏิบัติการของตนเอง

ตุรกี

Syrians living in Turkey celebrate after Syrian rebels announced that they have ousted President Bashar al-Assad in Syria, in Istanbul

ฮูโก บาเชกา ผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางของบีบีซี กล่าวว่า “หลายคนเชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับพรจากตุรกี”

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ได้กดดันให้อัสซาดเข้าร่วมการเจรจาเพื่อหาทางออกทางการทูตต่อความขัดแย้งที่อาจช่วยให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียสามารถเดินทางกลับประเทศได้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอย่างน้อย 3 ล้านคนอยู่ในตุรกี และนี่เป็นประเด็นอ่อนไหวในประเทศ แต่อัสซาดปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น

“ตุรกีซึ่งสนับสนุนกลุ่มกบฏบางส่วนในซีเรีย ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนกลุ่มฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham – HTS) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามที่นำการก่อกบฏ”

อย่างไรก็ตาม ตุรกีให้การสนับสนุนสถาบันบางแห่งที่ควบคุมพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มกบฏในภาคเหนือของซีเรีย และจะ “เพิ่มความพยายาม” เพื่อช่วยรักษาอนาคตอันสงบสุขและมั่นคงของซีเรียในอนาคตข้างหน้า

ฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี กล่าวว่า สิ่งนี้รวมถึงการหาวิธีส่งตัวชาวซีเรียที่หลบหนีสงครามกลางเมืองกลับประเทศด้วย

เลบานอน

แครีน ทอร์เบย์ ผู้สื่อข่าวภาษาอาหรับของบีบีซี กล่าวว่า ประเด็นว่าควรสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดหรือไม่ ถือเป็นเส้นแบ่งหลักระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในเลบานอน

หลายคนมองว่าซีเรียยึดครองเลบานอนมาเป็นเวลานาน ก่อนที่กองกำลังของอัซซาดจะยกพลออกจากประเทศในปี 2005 ดังนั้นกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียจึงมองว่าการล่มสลายของรัฐบาลซีเรียเป็นผลลัพธ์ในเชิงบวก

แต่กลุ่มการเมืองในประเทศที่สนับสนุนอัสซาดมองว่านี่คือพัฒนาการที่น่าเป็นห่วง

ทอร์เบย์บอกว่า สิ่งที่น่าวิตกที่สุดคือการล่มสลายของรัฐบาลอัสซาด ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ “ซีเรียซึ่งเป็นกระดูกสันหลังและเส้นทางส่งกำลังหลักของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ถูกตัดขาดแล้ว” เธอกล่าวเสริม

“นี่เป็นแรงกระแทกอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ในตอนนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วย”

แต่สมาชิกปีกการเมืองของฮิซบอลเลาะห์ในรัฐสภากล่าวว่า “ขบวนการต่อต้าน” อิสราเอลจะไม่ได้รับผลกระทบ

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในซีเรีย แม้จะเป็นอันตราย แต่ไม่สามารถทำให้เราอ่อนแอลงได้” ฮัสซัน ฟัดลาลเลาะห์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยจากซีเรียระลอกใหม่เข้าสู่เลบานอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียจากชุมชนชีอะห์ และหลายคนได้ข้ามไปยังเลบานอนแล้ว

“นี่เป็นสัญญาณว่าสถานการณ์พลิกผันไปอย่างสิ้นเชิง เรารู้ว่าชาวชีอะห์เคยข้ามจากเลบานอนไปยังซีเรียเมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของอัสซาด” แครีน ทอร์เบย์ กล่าว

ผู้คนที่เดินทางมายังเลบานอนบอกกับบีบีซีว่า พวกเขายังไม่ได้เผชิญกับผลกระทบอะไรจากกลุ่มที่เข้ายึดครองประเทศ แต่พวกเขาออกมาจากซีเรีย เพราะกลัวว่าอาจมีปัจเจกบุคคลที่ดำเนินการเองเพื่อแก้แค้นพวกเขา

อิสราเอล

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล สั่งการให้กองทัพ “เข้าควบคุม” เขตกันชนระหว่างที่ราบสูงโกลันที่อิสราเอลยึดครองกับซีเรีย หลังการล่มสลายของระบอบอัสซาด

เขากล่าวว่า ข้อตกลงกับซีเรียเรื่องการก่อตั้งพื้นที่ปลอดทหารในปี 1974 ได้ “พังทลาย” แล้ว

อิสราเอลยึดที่ราบสูงโกลันจากซีเรียในช่วงสุดท้ายของสงคราม 6 วันในปี 1967 และเข้ายึดครองดินแดนดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวในปี 1981 การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะให้การยอมรับในปี 2019 ก็ตาม

กิเดียน ซาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล ระบุว่า การที่กองทัพอิสราเอลเข้ายึดเขตกันชนดังกล่าวเป็น “ขั้นตอนที่จำกัดและชั่วคราว” เพื่อรักษาความปลอดภัยของอิสราเอล

โยลันเด เนลล์ ผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางของบีบีซี ประจำกรุงเยรูซาเล็ม กล่าวยืนยันว่า อิสราเอลโจมตีคลังอาวุธเคมีและคลังขีปนาวุธที่ต้องสงสัยในซีเรีย และบอกด้วยว่านี่เป็นการป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มหัวรุนแรง

รายงานหลายชิ้นที่ปรากฏในสื่อระบุว่า มีการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลหลายสิบครั้งในช่วงวันที่ผ่านมา รวมทั้งในพื้นที่ในกรุงดามัสกัสที่กล่าวกันว่าใช้ในการพัฒนาจรวดโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่าน

ชาติอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง

เซบาสเตียน อัชเชอร์ บรรณาธิการภูมิภาคตะวันออกกลางของบีบีซี รายงานว่า เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังสื่อสารกับผู้มีอิทธิพลในภูมิภาคทั้งหมดเพื่อพยายามป้องกันความโกลาหลในซีเรีย

“กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของซีเรีย ได้ออกพระราชสาส์นที่คล้ายกัน ทรงเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพิ่มเติม และมีการปิดพรมแดนด้านซีเรียเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน”

อันวาร์ การ์กาช เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ความกังวลหลักของยูเออีคือลัทธิหัวรุนแรงและการก่อการร้าย และกล่าวโทษอัสซาดที่ไม่ยอมใช้ความช่วยเหลือที่ประเทศอาหรับต่าง ๆ หยิบยื่นให้

เครดิต สงครามซีเรีย: การล่มสลายของอัสซาดมีนัยต่อโลกอย่างไร – BBC News ไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *