ศาสนาคือการรวมพลัง ไม่ใช่ความแตกแยก
ชายชาวฮินดูในอินเดียเจ้าของผลงานภาษาอาหรับตกแต่งมัสยิดกว่า 200 แห่ง
หนึ่งในวิธียอดนิยมของมุสลิมทั่วโลกในการตกแต่งมัสยิด คือการเขียนภาษาอาหรับแบบอักษรวิจิตร หรือ Arabic Calligraphy หรือที่มุสลิมเรียกกันว่าค็อตอาหรับ ลงไปบนผนังของมัสยิด ไม่ว่าจะเป็นชื่อมัสยิด บทขอพร(ดุอาอฺ) หรือแม้แต่โองการจากคัมภีร์กุรอาน
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในประเทศอินเดียมีชายชาวฮินดูคนหนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนค็อตอาหรับที่ได้รับการยอมรับจากมุสลิม จนมีผลงานประดับอยู่บนผนังมัสยิดในอินเดียมากกว่า 200 แห่ง
ชายวัย 50 ปีคนนี้มีชื่อว่า Anil Kumar Chowhan ยึดอาชีพเขียนลวดลายอักษรวิจิตรมาแล้ว 30 ปี โดยเขาเริ่มต้นจากการเป็นช่างเขียนป้ายสำหรับร้านค้าเพื่อแลกกับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด ก่อนจะได้รับโอกาสให้วาดลวดลายให้กับวัดฮินดูและศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ
“ผมมาจากครอบครัวชาวฮินดูที่ยากจนมาก ต้องออกจากโรงเรียนหลังจากจบชั้นที่ 10 เพื่อมาช่วยเหลือครอบครัว แต่ผมวาดรูปเก่ง ก็เลยคิดว่าทำไมไม่ลองเอาทักษะนี้มาเป็นอาชีพล่ะ” เขากล่าว
เขาได้รับโอกาสให้ตกแต่งวัด 30 แห่งด้วยภาพของเทพเจ้าและเทพธิดาในศาสนาฮินดู นอกจากนี้เขายังเป็นเจ้าของผลงานในสุสานและอารามอีกนับไม่ถ้วน
และถึงแม้จะยึดมันเป็นอาชีพ และเป็นอาชีพที่ทำเงินให้เขาเพียงเดือนละประมาณ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 11,000) เท่านั้น แต่เขาบอกว่าบางงานก็ไม่ได้รับเงินตอบแทน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการเขียนภาษาอาหรับให้กับมัสยิดด้วย
“ผมได้รับเงินค่าตอบแทนจากมัสยิดมากกว่า 100 แห่ง แต่สำหรับมัสยิดอีก 100 แห่งผมก็ทำงานให้ฟรีๆ เพราผมรู้สึกถึงความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับสถานที่เหล่านั้นที่บอกให้ไม่เรียกร้องค่าตอบแทน”
สำหรับทักษะการเขียนภาษาอาหรับ เขาได้มาจากการฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ได้เรียนจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแต่อย่างใด
“ระหว่างที่รับงานวาดภาพ ผมได้เรียนรู้การอ่านและเขียนภาษาอุรดู(ภาษาของชาวอินเดียมุสลิมที่เขียนด้วยตัวอักษรภาษาอาหรับ) หลังจากนั้นไม่นานผู้คนก็เริ่มยอมรับความสามารถของผม และให้โอกาสผมตกแต่งสถานที่สำคัญในเมืองด้วยโองการของอัลกุรอาน” เขากล่าว
เขาบอกว่า สำหรับเมืองไฮเดอราบัดที่เขาอยู่ การเขียนป้ายเป็นภาษาอุรดูเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในเมืองรวมถึงบรรดาเจ้าของร้านนั้นเป็นมุสลิม ดังนั้นเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำความคุ้นเคยกับภาษาอุรดู
งานเขียนภาษาอาหรับงานแรกที่เขาได้รับมอบหมายงานคืองานใหญ่ในปี 1990 เมื่อเขาถูกขอให้ตกแต่งมัสยิดนูร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองไฮเดอราบัด
“ผมดีใจมากๆ การได้รับมอบหมายงานใหญ่นั้นไม่เพียงแค่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความสามารถของผมได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่มันยังเป็นเหมือนตราประทับอนุมัติจากพวกผู้นำของเมือง ซึ่งช่วยเปิดประตูโอกาสให้ผมด้วย และผมก็ทำมัน”
เส้นทางการเป็นผู้เขียนอักษรอาหรับของเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะชาวมุสลิมบางคนต่อต้านผลงานของเขาด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นชาวฮินดู
แต่ด้วยความมุ่งมั่นในอาชีพ ทำให้เขาได้รับการฟัตวา (การวินิจฉัยทางศาสนาอิสลาม) จากมหาวิทยาลัยญามิอะห์นิซอมียะห์ (Jamia Nizamia) มหาวิทยาลัยอิสลามเก่าแก่ในเมืองไฮเดอราบัด ว่าเขาสามารถทำงานนี้ได้ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้แขวนชิ้นงานที่เป็นโองการอัลกุรอานบทยาซีนของเขาเอาไว้อีกด้วย
“ทุกวันนี้ เพื่อนส่วนใหญ่ของผมเป็นมุสลิม เรากินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน สังสรรค์ด้วยกัน และทำให้ชีวิตของกันและกันดีขึ้น”
“ในช่วงเดือนรอมฎอน ผมเป็นคนที่ยุ่งมาก เพราะต้องไปมัสยิดโน้นมัสยิดนี้เพื่อเผยแพร่สารแห่งสันติของอัลลอฮ์ผ่านงานศิลปะของผม แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการทำงานนะ ผมชอบที่ได้รับหน้าที่แบบนี้”
หลังจากผ่านการตกแต่งลวดลายให้กับศาสนสถานหลายศาสนา เขาเชื่อว่าศิลปะไม่ควรถูกตีกรอบโดยกลุ่มชนหรือศาสนา
“มัสยิด วัดวาอาราม ผมได้ตกแต่งมันมาแล้วทั้งนั้น สถานที่ทั้งหมดเหล่านั้นบอกเราแบบเดียวกัน คือความรัก สันติภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ศาสนาคือการรวมพลัง ไม่ใช่ความแตกแยก”
“ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความอันหนึ่งอันเดียวกัน และโลกจะยิ่งมั่งคั่งขึ้น” เขากล่าว
ที่มา : AL JAZEERA – India’s Hindu calligrapher whose art adorns more than 200 mosques – https://bit.ly/3jM9IGS