บทความ

5 เหตุผลเบื้องหลัง ‘พญามังกร’ ฟื้นตัวจาก ‘โควิด’ ดีที่สุดในโลก

เมื่อไม่นานมานี้ Nikkei สำนักข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น จัดอันดับการฟื้นตัวจาก “โควิด” โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการแพร่ระบาด การฉีดวัคซีน และการเดินทางของคนในประเทศซึ่งรวมถึงความเข้มงวดในการควบคุมการเดินทาง โดยประเทศจีน เป็นประเทศที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด

ในขณะเดียวกันที่ Nikkei จัดให้ประเทศจีน เป็นประเทศที่ได้รับคะแนนการฟื้นตัวจาก “โควิด” สูงที่สุดนั้น ประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับให้รั้งอยู่ที่ 118 จาก 120 อันดับ

การฟื้นตัวของจีนหลังสถานการณ์โควิด ถือว่าค่อนข้างไวมาก ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่ผ่านมา หรือราว 2 เดือน หลังจีนยกเลิก Lockdown เมืองอู่ฮั่น (เมืองที่ถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด) จีนก็เริ่มมาตรการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แม้เจอการแพร่ระบาดในพื้นที่จีนอยู่เป็นระลอก จนถึง ณ ขณะนี้ก็ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ เช่น ปลายเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ระบาดที่มณฑลกว่างตง และตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบาดที่มณฑลหยุนหนาน

จากการรายงานของ BBC เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของ 2564 เติบโต 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนักในจีนจนต้อง Lockdown ทั่วประเทศ

จากที่อ้ายจงเล่ามาข้างต้น คงเห็นแล้วว่าจีนฟื้นตัวแล้วจริงๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อ้ายจงเลยขอพาทุกคนไปดูกันว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นฟูได้ไว สวนกระแสโลก

1. การเติบโตของเทคโนโลยี  และเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัล (Digitization)

เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเป็นประเทศที่โอบกอดคำว่า ดิจิทัล เข้ามาสู่ประเทศในทุกมิติ มาตั้งแต่ก่อนโควิด และเสมือนเป็นการพลิกวิกฤตสู่โอกาส  “โควิด กระตุ้นให้การเติบโตของเทคโนโลยีในจีน พุ่งสูงกว่าเดิม”  ทุกภาคส่วนยินดีเต็มใจต้อนรับ Digital Transformation เกิดขึ้นกับพวกเขา

ตัวอย่างเช่น ตลาด Luxury การบริโภคสินค้าหรูในจีนช่วงโควิด ปี 2563 สร้างเม็ดเงิน 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลจาก McKinsey เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนหน้าร้านสินค้าแบรนด์เนมไปสู่บนโลกออนไลน์ และใช้ Livestreaming เป็นช่องทางการขายสำคัญ โดยสามารถกล่าวได้ว่า ช่วงระบาดหนักของโควิด มีตลาดจีนเพียงแห่งเดียวในโลก ที่ยังคงสร้างรายได้ให้กับสินค้าแบรนด์เนม ขณะที่ทั่วทั้งโลก ยิ่งในโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตลาดหรูซบเซา ด้วยผลกระทบจากโควิด

2. “ชาตินิยม” และการพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น ผลกระทบจากทั่วโลกจึงไม่ส่งผลต่อจีนเท่าใดนัก

หลายประเทศ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้ช้ากว่าจีน ส่วนหนึ่งมาจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ อย่างประเทศที่รายได้มาจากการท่องเที่ยวและส่งออกสินค้าเป็นหลัก เช่น ประเทศไทย

แต่สำหรับจีน ได้ดำเนินนโยบาย “สนับสนุน Local brand กระตุ้นการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีด้วยบริษัทจีนเอง” ดำเนินนโยบาย Made in China 2025 และปลุกกระแสชาตินิยมทางการบริโภคสินค้า “Consumer Nationalism” มาเป็นเวลาหลายปี เราจึงได้เห็นตัวเลขความพึงพอใจของผู้บริโภคจีนที่มีต่อสินค้าแบรนด์จีนเพิ่มขึ้นในแทบทุกประเภทสินค้า รวมถึง สินค้าประเภทแฟชั่นและกระเป๋า ที่แต่เดิมคนจีนพึงพอใจแบรนด์เนมจากต่างประเทศมากกว่า ตามการสำรวจของสื่อกระบอกเสียงทางการจีน Global Times เดือนมีนาคมปีนี้

3. บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันและก้าวสู่ระดับโลกเพิ่มขึ้น

จากปัจจัยการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการปรับตัว Digital Transformation อย่างเต็มใจและรวดเร็วขององค์กรจีน รวมถึงการพัฒนาของแบรนด์จีน ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของบริษัทจีนจึงสูงขึ้นไปด้วย

แบรนด์จีนในสายเทคโนโลยี อาทิ TikTok และ Huawei เป็นหัวหอกสำคัญนำพาธุรกิจจีนไปลุยตลาดโลก และรุดหน้าอย่างไม่หยุดท่ามกลางสถานการณ์โควิด แม้แต่ในตลาดอเมริกา คู่แข่งสำคัญของจีน TikTok ครองใจเด็กอเมริกัน มีอัตราการใช้งานบน TikTok โดยเฉลี่ย 95 นาทีต่อวัน ตามหลัง YouTube เพียง 2 นาที

4. รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายฟื้นฟูโควิดอย่างทันท่วงที

เป็นที่รู้กันดีว่า จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้จ่ายทางการทหารค่อนข้างสูง และมีการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร-กระทรวงกลาโหม ขึ้นทุกปี แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเกิดขึ้นในจีน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจจีน ทำให้งบกลาโหมจีนในปี 2563 ปรับลด “อัตราการเติบโต” อยู่ที่ 6.6% (แต่ยังอยู่ในระดับล้านล้านหยวน) ถือว่าเป็นงบกลาโหม “เติบโตน้อยที่สุดในรอบ 30 ปี”  และต่อเนื่องมาถึงงบกลาโหมปีนี้ 2564 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับการเติบโต 6.8% แต่ก็ยังคงเป็นงบประมาณกลาโหมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด

อัตราการเติบโตงบประมาณกลาโหมจีนก่อนโควิด ระหว่างปี 2558 – 2562 เป็นไปดังนี้

2562 อัตราการเติบโตงบกลาโหมอยู่ที่ 7.5%  

2561 เติบโต 8.1% 

2560 เติบโต 7.0% 

2559 เติบโต 7.6% 

2558 เติบโต 10.1% เป็นปีสุดท้ายที่แตะระดับเลขสองหลัก ก่อนที่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป งบกลาโหมจีนเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียว) 

งบกลาโหมที่ปรับลดลงไปโดยส่วนใหญ่ จีนนำไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน และใช้จ่ายสาธารณสุข ฟื้นฟูจากโควิด โดยงบสาธารณสุขเติบโต 12.6% เมื่อปี 2563 คิดเป็นงบประมาณ 9.27 แสนล้านหยวน เพื่อใช้กับการควบคุม ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิด

ช่วงแรกเริ่มของการระบาด มีตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับผู้ป่วยโควิด ที่ทางการจีนจัดสรรงบอยู่ที่ 17,000 หยวน โดย 65% ของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิดแต่ละคนตามที่ระบุเลขตามนี้ 65% มาจากงบกลาง และที่เหลือ 35% มาจากรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละมณฑล-เมือง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/949594